จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 22: น้ำพุแห่งเยาว์วัย

จิตวิทยาผู้สูงวัย

“น้ำพุแห่งเยาว์วัย” (Fountain of Youth) เป็นความเชื่อว่า มีที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่มีอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดพิเศษ ซึ่งสามารถดำรงไว้ซึ่งความเยาว์วัยตลอดกาล (Perpetual) ตำนานปรัมปราในเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในทุกวัฒนธรรมตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อนี้ ยังเป็นหัวเรื่อง (Theme) ของความบันเทิงยอดนิยมในสมัยใหม่ อาทิ หนังสือเรื่อง “ขอบฟ้าที่เลือนหาย” (The Lost Horizon) และภาพยนตร์เรื่อง “ตลุยจักรวาล ตอนการก่อกบฏ” (Star Trek : Insurrection) นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ จะมีคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกาย ที่ทำให้คนเราดูเยาว์วัยขึ้นและมีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น

ผู้คนจำนวนมากหันมาสนใจสินค้าเสริมสวย (Cosmetics) ที่ช่วยให้ดูอ่อนเยาว์ ลบรอยเหี่ยวย่น ทำให้ผมขาวอันตรธานไป และกระชับส่วนของร่างกายที่เสื่อมลง แต่ในการขยายชีวิตให้ยาวนานขึ้น (Prolong) ได้หรือไม่นั้น ผลวิจัยแสดงว่า ขึ้นอยู่กับการเลือกวิถีชีวิต (Life style) ที่ถูกต้อง

วิถีชีวิตดังกล่าวคือสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากเกลียดชัง อันได้แก่ การออกกำลังกายมากขึ้น การลดการบริโภคอาหารและดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และไม่สูบบุหรี่เลย ประมาณการกันว่า 35% ของการตายทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาในศตวรรษนี้มีสาเหตุมาจากความเกียจคร้าน (Indolence) การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และการสูบบุหรี่

ผลงานวิจัยที่สนับสนุนในเรื่องนี้ นำไปสู่การแนะนำให้เพิ่มระดับการออกกำลังกาย บริโภคอาหารอย่างชอบด้วยหตุผล (Sensible) และหยุดสูบบุหรี่ พร้อมด้วยการรณรงค์โครงการ “ผู้คนที่มีสุขภาพแข็งแรง” (Healthy People) ในสหรัฐอเมริกา และโครงการ “อยู่อย่างสุขสบาย” (Live Well) ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ

การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) พบว่า ศิษย์ก่าที่ออกกำลังกาย [สม่ำเสมอ] มีความสัมพันธ์โดยตรงอย่างมีนัยสำคัญกับการมีชีวิตอยู่ยาวนาน (Longevity) แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าว มิได้สอดคล้องเสมอไป (Consistent) ในทุกเงื่อนไข หรือสภาวะ (Conditions)

ตัวอย่างเช่นการออกกำลังกายที่เผาผลาญพลังงาน 1,000 ถึง 2,000 กิโลจูล (Kilojoule) ต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และความเสี่ยงนี้จะลดลงได้อีก หากเพิ่มการออกกำลังกาย จนเผาผลาญพลังงาน 2,000 ถึง 3,000 กิโลจูลต่อสัปดาห์ แต่ถ้าออกกำลังกายเกินกว่านี้ จะไม่สามารถลดความเสี่ยงลงมากกว่านี้

แต่ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งรายงานว่า ความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary) ลดลงมาก เมื่อมีการออกกำลังกายอย่างหนัก (Vigorous) จนมีการเผาผลาญพลังงาน 4,000 กิโลจูล ต่อสัปดาห์ โดยทั่วไป การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอตลอดสัปดาห์ ดูเหมือนจะเป็นวิธีดีที่สุดสำหรับการมีชีวิตอยู่ยาวนาน

แต่การศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า พฤติกรรม “นักรบสุดสัปดาห์” (Week-end warrior) ซึ่งเป็นการกำลังกายหักโหม (Intense) ในช่วงเวลาอันสั้น (Brief) เพียง 1 หรือ 2 คาบ ก็ได้ประโยชน์ (Beneficial) เช่นกัน หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆแอบแฝงอยู่

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Fountain of Youth - http://en.wikipedia.org/wiki/Fountain_of_Youth [2015, September 15].