จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 17: ปรากฎการณ์ของชราภาพ

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ปัจจุบันยังมีอีกมิติหนึ่ง ที่มองว่าช่วงปลายของชีวิต คือการถูกบังคับให้ออกจากงาน โดยไม่มีรายได้อีกต่อไป ในหลายๆ ประเทศ การเกษียณจากการทำงาน เป็นภาคบังคับ ณ อายุหนึ่ง หรือถูกจำกัด (Constraint) โดยปัจจัยอื่น จึงเป็นที่มาของความคิดในเรื่องบำนาญ (Pension) ที่ทุกคนมีสิทธิและสมควรได้รับ (Entitlement) อย่างน้อยก็ตามกฎหมาย

ความคิดนี้ ได้รับการปลูกฝัง (Ingrained) อยู่ในจิตสำนึก (Consciousness) ของประเทศอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แต่อันที่จริง เป็นประดิษฐกรรม (Invention) ของชาวเยอรมันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้วแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังประเทศต่างๆ ในช่วงทศวรรษต้นๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 20

บำนาญ เป็นกลไกในการบังคับให้คนงานที่มีอายุมากแล้ว (ซึ่งมีความสามารถที่ถดถอยลงของร่างกายและการเรียนรู้ทักษะใหม่) ให้ออกจากตลาดแรงงาน เพื่อเปิดทางให้คนงานที่ยังเยาว์วัยอยู่เข้าแทนที่ แต่เมื่อแบบแผน (Scheme) นี้ ได้รับการนำไปลงมือปฏิบัติ ก็มีเพียงผู้คนจำนวนน้อยที่มีอายุยืนยาวนานพอที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากแบบแผน

บำนาญตามกฎหมาย (State pension) นำมาซึ่งความจำเป็นที่จะต้องนิยาม “อายุเกษียณ” โดยพยายามที่จะค้นหาลักษณะพิเศษ (Characteristics) ของผู้คนโดยถัวเฉลี่ย และตั้งอยู่บนพื้นฐานของมาตรวัดทางสถิติ (Statistical measure) อันเป็นความพยายามในระยะแรกเริ่มของการวัดความแตกต่างทางร่างกายมนุษย์ (Anthropometry)

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1840 (ระหว่างปี พ.ศ. 2383 – 2392) เริ่มมีการประกาศอย่างเป็นทางการ (Promulgated) ว่า ผู้สูงอายุ คือผู้ที่อยู่ระหว่าง 60 ถึง 65 ปี นิยามนี้นับว่าชอบด้วยเหตุผลและเป็นที่ยอมรับของผู้คน แต่ผู้คนส่วนมาก (Majority) ในช่วงเวลาดังกล่าว พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของร่างกายและจิตใจ ดังนั้น ผู้ศึกษาเรื่องชราภาพ (Gerontologist) จึงได้ใช้เป็นจุดเริ่มต้น (Threshold) ของผู้สูงอายุ

ยังมีอีกวิธีการ (Approach) หนึ่ง ของการแยกประเภทช่วงปลายของชีวิต โดยพิจารณาอายุตามการทำงาน (Functional age) ของร่างกาย ซึ่งก็คือ อายุจริงตามเวลา (Chronological age) ที่มีระดับทักษะเฉพาะ (Specific skills) แนวความคิด (Concept) นี้ได้รับการยอมรับมานานกว่าศตวรรษในจิตวิทยาเด็ก (Child psychology) เพราะเป็นแนวทางที่เข้าใจง่าย (Comprehensible) และเป็นประโยชน์ในการอธิบายพัฒนาการของเด็ก (Child development)

ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กอายุ 12 ปี แต่มีอายุสมอง (Mental age) เพียง 8 ขวบ แสดงอย่างแน่ชัดว่า เขาจะมีปัญหาในด้านสติปัญญา (Intellectual) อย่างไรก็ตาม นิยามนี้อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้กับผู้สูงวัย เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ผู้สูงอายุบางคนมีสติปัญญาที่ลดน้อยถอยลง จนอยู่ในระดับเท่ากับทักษะของเด็ก

โดยหลักการ (Principle) แล้ว แม้การเปรียบเทียบกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าว จะถูกต้องแม่นยำ (Accurate) แต่ก็นำมาซึ่งประเด็นที่สัมพันธ์กับ “วัยเด็กครั้งที่สอง” (Second childhood) ที่ไม่พึงปรารถนา จึงเป็นที่กังขากันว่า การใช้อายุการทำงานในสถานการณ์นี้ เหมาะสมหรือไม่? และดูเหมือนจะขัดแย้ง (Contradictory) กับจุดประสงค์หลักของการแยกประเภทเพื่อเสริมส่งอายุจริงตามเวลา ซึ่งควรจะเป็นส่วนสำคัญ (Key) ของนิยามในเรื่องชราภาพ

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Chronological Age - http://education-portal.com/academy/lesson/chronological-age-definition-lesson-quiz.html [2015, August 11].