จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 115 : ความทรงจำตนเอง (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-115

แม้จะมีหลายกรณี (Instance) ที่เสื่อมลงตามอายุ แต่บางประเภทของความทรงจำตนเอง (Meta-memory) อาจมีความถูกต้องแม่นยำในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต ตัวอย่างเช่น เมื่อนักวิจัยรายงานว่า ผู้สูงวัยบางคนคิดว่าความทรงจำอาศัยความหมาย (Semantic) ของตนได้เสื่อมลง แต่ผู้สูงวัยอื่นๆ อาจไม่เชื่อกรณีดังกล่าว

ในกรณีอื่น “ความรู้สึกว่ารู้” (Feeling of knowing : FOK) อาจสัมพันธ์กับระดับความเชื่อมั่นในเนื้อหาวิชา (Subject matter) ที่ได้รับการท่องจำ (Memorized) ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) สูงวัย มีระดับ FOK ต่ำกว่าผู้เยาว์วัย ในข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณเท่านั้น แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในรายการความรู้ทั่วไป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวโน้มอันสัมพันธ์กับอายุ ที่ใหญ่กว่าของการมองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) เนื่องจากนักวิจัยได้รายงานผลมาตลอด ถึงความเชื่อมั่นในตนเองที่ลดลงในผู้เข้าร่วมวิจัยสูงอายุ ถ้าผู้สูงอายุมีโอกาสได้ผ่านประสบการณ์ (Exposure) ของรายการที่พึงจดจำ (To be remembered : TBR) มากขึ้นในงาน (Task) ความทรงจำอาศัยเหตุการณ์ (Episodic) ระหว่างการ “เข้ารหัส” (Encode) คะแนน FOK ก็จะสูงขึ้น ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงมิใช่ผลของการมองโลกในแง่ร้ายแต่อย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ การลดลงของการทำงานของสมองส่วนบริหาร (Executive function : EF) และทักษะที่แย่ลงของการใช้ข้อมูลบริบท (Contextual information) นักวิจัยยังพบว่า ความทรงจำที่เสื่อมลง (Impairment) ตามอายุ เกิดจากผู้สูงวัยมีโอกาสสูง (Vulnerability) ที่จะผิดพลาดในความเชื่อมั่นระดับสูง เมื่อตอบคำถามที่ต้องอาศัยรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเรียนรู้ไม่นานมานี้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าผู้เข้าร่วมวิจัยมีความทรงจำที่ไม่สมบูรณ์ ความทรงจำนั้นอาจแย่เกินกว่าเจ้าของความทรงจำจะรู้ตัว ดังนั้น เขาจึงถูกกำหนด (Doom) ให้ตัดสินใจเกี่ยวกับความทรงจำตนเองอย่างไม่สู้ดีนัก เนื่องจากโดยคำนิยาม เขาตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์

นักวิจัยยังพบอีกว่า เมื่อมีการประมวลรายการที่ผู้เข้าร่วมวิจัยมีระดับความเชื่อมั่นสูง ผู้เยาว์วัยแสดงกิจกรรมทางประสาท (Neural activity) เพิ่มขึ้นในส่วนกลางของสมองกลีบขมับ (Medial temporal lobe) ในขณะที่สูงวัย มิได้แสดงรูปแบบ (Pattern) นี้ในสถานการณ์เดียวกัน

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางประสาทในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต บ่อนทำลาย (Undermine) สมรรถนะของการตัดสินใจที่วิเคราะห์ (Delineated) อย่างชัดเจน จากสมรรถนะเมื่อเป็นผู้เยาว์วัย ตัวอย่างเช่น การกระทำจากความทรงจำที่ไม่สมบูรณ์ ในสภาวะ (State) ที่เรียกว่า “ติดอยู่ที่ปลายลิ้น” (Tip of tongue : TOT) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผู้คนส่วนมากคุ้นเคย (Familiar) ชื่อหรือคำที่ค้นหา ไม่อาจระลึกถึง (Recall) ได้ แต่จำคุณลักษณะ (Feature) บางส่วนได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Metamemory https://en.wikipedia.org/wiki/Metamemory [2017, June 27].