จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 110 : ความทรงจำตามแผน (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

หนึ่งในการทำงานหลัก (Principal function) ของความทรงจำ มิใช่เพียงการจดจำอดีต แต่ยังรวมถึงการวางแผนเพื่ออนาคต ความทรงจำตามแผน (Prospective memory) เป็นรูปแบบหนึ่งของความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ เพื่อปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ หรือระลึกถึง (Recall) ความตั้งใจที่กำหนดไว้ ณ เวลาหนึ่งในอนาคต

งาน (Task) ในความทรงจำตามแผน ที่พบเห็นกันบ่อยในชีวิตประจำวัน มีตั้งแต่สถาณการณ์ที่ค่อนข้างง่ายดาย ไปจนถึงซับซ้อนที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย (Life-or-death) ของชีวิต ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่การจดจำปิดฝาหลอดยาสีฟัน การจดจำตอบอีเมล หรือการจดจำนำวีดิทัศน์ภาพยนตร์ไปคืน จนถึงผู้ป่วยจดจำการกินยา หรือนักบิน (Pilot) จดจำการปฏิบัติงานตามระเบียบวิธีความปลอดภัย (Safety procedure) ระหว่างเที่ยวบิน

แก่นของความทรงจำตามแผน คือการเรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้นหากเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญาผลึก (Crystallized intelligence) อีกมิติ (Aspect) หนึ่งของความจำนี้ คือความสามารถในการจดจำสิ่งที่จะกระทำบางอย่างในอนาคต

อาจกล่าวได้ว่า ความทรงจำตามแผนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความทรงจำระยะยาว (Long-term Memory : LTM) เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับการดำรงรักษา (Retain) ข้องมูลเป็นช่วงเวลายาวนาน แต่ก็มีประจักษ์หลักฐานมากมาย (Ample) ที่จะหักล้าง (Disprove) ความคิด (Notion) นี้

ในความทรงจำย้อนหลัง (Retrospective) การระลึกถึงรายการหรือเหตุการณ์เพื่อลงมือปฏิบัติ ก็เพียงพอที่จะถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในความทรงจำตามแผน จะถือว่าเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อมีการจดจำ ณ เวลาที่เหมาะสม แล้วลงมือปฏิบัติ ความทรงจำทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกัน (Distinct) บนพื้นฐาน (Ground) ทางทฤษฎีและการทดสอบทางปฏิบัติ (Empirical)

วิธีการระลึกถึงในความทรงจำตามแผน แตกต่าง (Vary) มากในแต่ละบุคคล แต่กล่าวในมุมกว้าง (Broadly speaking) มันอาจแยกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ กลยุทธ์ภายใน (Internal strategy) และกลยุทธ์ภายนอก (External strategy) ตัวอย่างประเภทแรกได้แก่ งานเชิงเวลา (Time-based task) ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) ต้องสนองตอบ ณ จุดหนึ่งของเวลาเฉพาะ โดยมีการกระตุ้นตนเองจากภายใน ส่วนตัวอย่างประเภทหลังได้แก่ งานเชิงเหตุการณ์ (Event-based task) ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัย ต้องระลึกถึงความทรงจำ แล้วลงมือปฏิบัติ โดยมีสิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอก

เส้นแบ่งระหว่าง 2 ประเภทนี้ไม่ชัดแจ้ง (Clear-cut) ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้กันทั่วไป (Common) คือการจดจำบางสิ่งบางอย่างร่วม (Conjunction) กับกิจวัตรประจำวัน (Routine) ที่คุ้นเคย (Familiar) อาทิ การดื่มกาแฟในอาหารเช้าจนเป็นนิสัย (Habitual) เป็นกลยุทธ์ภายใน แต่การเห็นกาแฟแล้วระลึกถึงบันทึกความทรงจำ (Aide memoire) เป็นกลยุทธ์ภายนอก

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Prospective memory. https://en.wikipedia.org/wiki/Prospective_memory [2017, May 23].