จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 10 : เหตุผลของชราภาพ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ชราภาพ (Aging) มี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นชราภาพตามปรกติ (Normal) ซึ่งเป็นกระบวนการไปตามธรรมชาติที่ค่อยๆ ชะลอลงทั้งทางร่างกาย (Physical) และจิตใจ (Psychological) ตั้งแต่ผู้ใหญ่วัยกลางคน จนถึงผู้ใหญ่วัยปลาย

ส่วนประเภทที่ 2 เป็นชราภาพตามพยาธิ (Pathological) ซึ่งมีสาเหตุจากความบกพร่องทางพันธุกรรม (Genetic defects) ปัญหาทางสรีระ (Physiological) หรือเชื้อโรค (Disease) อาทิ อัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่ง (Accelerator) ของกระบวนการชราภาพ

จุดมุ่งหมายหนึ่งของการศึกษาชราภาพ (Gerontology) ก็คือการแยกสาเหตุของชราภาพตามปรกติ ออกจากชราภาพตามพยาธิ การศึกษาในเรื่องนี้ นับวันจะมีทวีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น มีการพยากรณ์ว่า ประชากรอเมริกันที่มีอายุกว่า 65 ขึ้นไป (ซึ่งคิดเป็น 12.6% ของประชากรทั้งหมด ใน ปี พ.ศ. 2538) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมดใน ปี พ.ศ. 2583 กล่าวคือ เกือน 2 เท่าตัว

ส่วนอายุคาด (Life expectancy) ของประชากรอเมริกัน ใน ปี พ.ศ. 2488 อยูที่ 45 ปี ได้กระโดดขึ้นเป็น 76.7 ปี ในปี พ.ศ. 2543 จำนวนผู้มีอายุสูงกว่า 100 ปี มีเพียง 3,700 คน ในปี พ.ศ. 2463 แต่มีถึง 61,000 คน ในปี พ.ศ.2542 โดยที่ในจำนวนผู้สูงอายุเหล่านี้ มีผู้หญิงจำนวนมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 4 ต่อ 1

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ร่างกายของเรา เสื่อมสภาพลงได้อย่างไร? แล้วร่างกายและพฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงไปตามสังขารณ์อย่างไร? อันที่จริง คนเราจะมีอายุยืนแค่ไหน และร่างกายเสื่อมสภาพลงเร็วช้าเพียงใด ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมประมาณ 50% และปัจจัยอื่นๆ (อาทิ อาหาร การออกกำลังกาย วิถีชีวิต และโรคภัยไข้เจ็บ) อีก 50%

มี 2 ทฤษฎีที่นักวิจัยอธิบายกระบวนการชราภาพ ทฤษฎีแรก เป็นชราภาพตามธรรมชาติ (By chance) ส่วนทฤษฎีหลังเป็นไปตามความต้องการ (By choice) ทฤษฎีแรกกล่าวว่า ร่างกายของเราเสื่อมสภาพลงเนื่องจากปัญหาหรือการสลายตัว (Break-down) ของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งมีความสามารถลดลงในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของเซลล์เหล่านี้ เกิดจากการเสื่อมสภาพ (Wear and tear) ตามปรกติ อาจรวมถึงการสะสม (Build-up) ของสิ่งปฏิกูล (Waste) ที่แทรกแซง (Interfere) การทำงาน (Functioning) ของเซลล์ และการสลายตัวของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune)

ผลก็คือ การทำลายระบบป้องกันอันตรายต่อสารพิษ (Toxin agent) และการเพิ่มจำนวนที่บกพร่อง (Error) ของกลไกลพันธุกรรม (Genetic mechanism) หรือรหัสดีเอ็นเอ (DNA = Deoxyribonucleic acid) ซึ่งจะแทรกแซงโครงสร้างและการทำงานของเซลล์

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2015, June 23].