จะสูง จะต่ำ ก็ไม่เอา (ตอนที่ 2)

จะสูงจะต่ำก็ไม่เอา

คนเรามักเข้าใจผิดว่า ความดันโลหิตสูง (High blood pressure = HBP / hypertension) เกิดเมื่อมีภาวะตึงเครียด กระวนกระวาย ไฮเปอร์ (Hyperactive) แต่ความจริงแล้ว แม้คุณจะอยู่อย่างสงบ ผ่อนคลาย คุณก็ยังสามารถมีความดันโลหิตสูงได้อยู่ดี คุณอาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ แต่ความดันโลหิตสูงสามารถทำลายหัวใจ สมอง ตา และไตได้อย่างถาวร

เพราะร่างกายต้องการออกซิเจนที่อยู่ในเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ เมื่อหัวใจบีบตัวก็จะสร้างแรงกดเพื่อดันให้เลือดไหลไปตามหลอดเลือด นี่คือความดันโลหิต (Blood pressure) ซึ่งมี 2 จังหวะ โดยจังหวะแรกเป็นแรงดันให้เลือดออกจากหัวใจไปตามหลอดเลือด จังหวะที่ 2 เป็นจังหวะที่หัวใจผ่อนแรง

โดยหลอดเลือดที่แข็งแรงจะมีการยืดหยุ่นที่ดี ยิ่งหัวใจปัมส์เลือดมากเท่าไร หลอดเลือดก็ยิ่งขยายตัวออกเพื่อให้เลือดไหลผ่านได้ง่าย เมื่อเวลานานเข้า ถ้าแรงดันสูงมากเท่าใรเนื้อเยื่อของผนังหลอดเลือดก็จะมีปัญหาได้ เช่น

  • หลอดเลือดอ่อนแอ (Vascular weaknesses) แตกง่าย อย่างกรณีหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด(Hemorrhagic strokes) หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysms)
  • หลอดเลือดเป็นแผล (Vascular scarring) เนื่องจากหลอดเลือดต้องขยายตัวมากเกิน ทำให้มีรอยฉีกที่ผนังหลอดเลือดได้ โดยรอยนี้จะเป็นเหมือนตาข่ายที่สามารถดักจับเศษตะกอน (Debris) ต่างๆ เช่น คลอเรสเตอรอล หรือเซลล์ที่ไหลในกระแสเลือด
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นลิ่มเลือด (Blood clots) ทำให้หลอดเลือดตีบลง เป็นผลให้เกิดโรคหัวใจ
  • เป็นคราบได้ง่าย (Plaque build-up) เพราะคลอเรสเตอรอลและคราบที่ผนังหลอดเลือดที่ชำรุด ทำให้การไหลของเลือดไม่สะดวก จึงมีการเพิ่มความดันมากขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดไปทั่วร่างกาย เป็นผลให้เกิดโรคหัวใจ
  • เนื้อเยื่อและอวัยวะถูกทำลายเพราะไม่สามารถรับออกซิเจนบริสุทธิ์ได้มากพอ
  • ทำให้ระบบการไหลเวียน (Circulatory system) ทำงานหนักขึ้น

ดังนั้น การรักษาระดับความดันโลหิตให้ปกติ สามารถช่วย

  • ลดความเสี่ยงของการทำลายผนังหลอดเลือด
  • ลดความเสี่ยงของอาการหัวใจวาย (Heart attack) หรือการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • ช่วยให้เนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายได้รับออกซิเจนตามที่ต้องการ

โดยการวัดค่าความดันโลหิตจะมีค่า 2 ตัว คือ

1. ความดันซิสโทลิก (Systolic blood pressure) ซึ่งเป็นตัวเลขตัวบน เป็นความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดโลหิตออกไปเลี้ยงร่างกาย

2. ความดันไดแอสโทลิก (Diastolic blood pressure) ซึ่งเป็นตัวเลขตัวล่าง เป็นความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว หลังจากที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดโลหิตออกไปเลี้ยงร่างกายแล้ว ความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัวจะมีค่าน้อยกว่าความดันเลือดระยะหัวใจบีบตัว

แหล่งข้อมูล

1. What is High Blood Pressure? http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/HighBloodPressure/AboutHighBloodPressure/What-is-High-Blood-Pressure_UCM_301759_Article.jsp#.VkHAgE94vIU[2015, November 26].