จะสูง จะต่ำ ก็ไม่เอา (ตอนที่ 1)

จะสูงจะต่ำก็ไม่เอา

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้กำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคดังกล่าว

โดยองค์การอนามัยโลกเผยสถิติทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงถึง 1,000 ล้านคน ทำให้ความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยจากข้อมูลสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปีพ.ศ.2556 มีคนไทยเสียชีวิตจากความดันโลหิตสูง จํานวน 5,165 คน ซึ่งมีสถิติสูงกว่าเมื่อปี 2555 ที่มีจํานวน 3,684 คน

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า หากประชาชน รู้จักวิธีการดูแลตนเองและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ ซึ่งความดันโลหิตสูงเกิดจากภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โดยค่าความดันปกติในปัจจุบันถือเอาค่าตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท

แต่มีคนจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากไม่ปรากฏอาการในช่วงแรก เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่รับการรักษาแรงดันในหลอดเลือดที่สูง จะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญหลายระบบในร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไตตามมา

จากความรุนแรงดังกล่าว สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้กำหนดคำขวัญการรณรงค์ว่า“Know Your Numbers” และคำขวัญของกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย คือ “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวเข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามสถานบริการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการรู้ค่าความดันโลหิตจะทำให้รู้วิธีปฎิบัติตนในการป้องกันและควบคุมความดันโลหิตสูง

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงการเกิดความดันโลหิตสูง คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน การกินของหวาน มันและเค็มจัด รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ภาวะอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่และมีภาวะเครียด รวมทั้งอายุที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้

ดังนั้นการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกัน ความดันโลหิตสูง คือ ลดการบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการ อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมถุง ไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันควรลดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่หวานน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว กล้วย เป็นต้น ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และงดการสูบบุหรี่ ไม่เครียด ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัว เช่น ทำอาหารรับประทานเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ในกรณีผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนวัดความดันโลหิตเป็นประจำพร้อมจดบันทึก จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นคนปกติ

แหล่งข้อมูล

1. ห่วงป่วย“ความดันโลหิตสูง”ไม่รู้ตัว. http://www.thaihealth.or.th/Content/28315-ห่วงป่วย “ความดันโลหิตสูง” ไม่รู้ตัว.html [2015, November 25].