คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(Complete blood count: CBC)

การตรวจเช็คความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือที่เรียกสั้นว่าตรวจซีบีซี(CBC : complete blood count) เป็นการตรวจเลือดที่ตรวจบ่อยที่สุดเพราะเป็นการตรวจที่บอกข้อมูลต่างๆ ได้มากและค่าใช้จ่ายก็ถูกที่สุด การตรวจนี้ประกอบด้วย

  1. การตรวจฮีมาโตคริต หรือฮีโมโกบิล เป็นการตรวจว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ ค่าปกติฮีมาโตคริต เท่ากับ 36-38 ถ้าต่ำกว่านี้ คือ ซีดมีภาวะเลือดจาง แต่ถ้าสูงมากกว่า 50 ก็มีภาวะเลือดข้น
  2. การตรวจเม็ดเลือดขาว จำนวนเม็ดเลือดขาวต่อ 1 ซีซี ก็ประมาณ 4000- 7000 ตัว ถ้าต่ำกว่า 3000 หรือ สูงมากกว่า 10,000 คือ ผิดปกติ
  3. การตรวจเกล็ดเลือด จำนวนเกล็ดเลือดปกติต่อ 1 ซีซี คือ 140,000 – 400,000 ตัว ถ้าสูงหรือต่ำกว่านี้คือ ผิดปกติ

การตรวจ CBC นี้ค่าใช้จ่ายก็ถูกมากประมาณ 40-100 บาท(โรงพยาบาลรัฐ) มีประโยชน์มาก มาย สามารถบอกได้ว่า

  1. ภาวะโลหิตจางหรือไม่ เช่น ธาลัสซีเมีย ขาดธาตุเหล็ก ขาดสารอาหารหรือวิตะมิน เป็นต้น
  2. ภาวะติดเชื้อหรือไม่ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ เป็นต้น
  3. ภาวะมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  4. ภาวะได้รับสารพิษ เช่น ตะกั่ว
  5. ภาวะขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน บี 12

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การแปลผลหรือตีความของผู้ป่วยและญาติเมื่อเห็นผลการตรวจว่าค่าที่ได้นั้นผิดปกติไปจากค่าปกติจึงเกิดความกังวล เช่น

  1. ค่าเม็ดเลือดขาวสูงมากกว่า 10,000 ตัว ก็วิตกกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งความจริงแล้วการที่ค่าผลการตรวจมีความผิดปกติแตกต่างไปจากค่าปกติเพียงเล็กน้อย ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ยิ่งในปัจจุบันเป็นการรายงานโดยระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ มีการกำหนดค่าปกติไว้ในผลการตรวจ ถ้าผลการตรวจออกมาไม่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะมีการใส่สีแดงหรือเขียนว่าผิดปกติ เมื่อเจ้าของผลการตรวจได้รับผลการตรวจ และเห็นว่าผลการตรวจของตนเองนั้นมีค่าผิดปกติ เนื่องจากมีระบุหรือทำสัญลักษณ์ไว้ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ต่อจากนั้นก็จะเกิดการค้นคว้าหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ แล้วก็ได้คำตอบต่างๆนานาว่าสาเหตุของการความผิดปกติดังกล่าวนั้นมีสาเหตุจากโรคที่ร้ายแรง จากที่ร่างกายปกติดีก็เกิดอาการผิดปกติขึ้นทันที
  2. ค่าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 140,000 ตัว ก็วิตกกังวลว่าจะเป็นไข้เลือดออก หรือกลัวว่าเลือดจะออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด เป็นต้น ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นอะไรเลย เพียงแค่ค่าผลตรวจนั้นต่ำกว่าปกติไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เราเรียกว่าค่าเบี่ยงเบนไปจากค่าปกติ ซึ่งคนทุกคนก็อาจมีค่าปกติที่แตกต่างกันบ้าง หรืออาจเป็นเพราะเทคนิคการเก็บเลือด การตรวจที่เกิดความบกพร่องในบางขั้นตอนก็ได้
  3. ค่าของเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซีโนฟิลสูงก็กังวลว่าจะป็นโรคภูมิแพ้ เป็นการติดเชื้อพยาธิ หรือกลัวว่าจะเป็นโรคพุ่มพวง เป็นต้น

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนั้นคือ

  1. ความผิดปกติบางกรณี เช่น ภาวะโลหิตจาง รูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ สามารถบอกได้แม่นยำว่าเป็นภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก หรือธาลัสซีเมีย แต่ถ้าผลการตรวจออกมาว่าซีดเล็กน้อย ลักษณะของเม็ดเลือด รูปร่างก็ปกติดี ไม่มีการแตกของเม็ดเลือดหรือความผิดปกติอื่นๆ ก็ยากที่บอกได้ว่าเป็นโรคอะไร หรือจริงแล้วก็ไม่เป็นอะไรเลย แพทย์ต้องใช้ข้อมูลจากประวัติ การตรวจร่างกายว่าซีดหรือไม่ มีความผิดปกติอื่นๆของระบบต่างๆหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ผลการตรวจที่พบว่าซีดเพียงเล็กน้อยอย่างเดียวก็สรุปไปว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงต่างๆได้
  2. ความผิดปกติบางอย่าง ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นจากสาเหตุใด เช่น เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำกว่าปกติเล็กน้อยก็ไม่มีความจำเพาะต่อสาเหตุใดๆ
  3. การสรุปว่าใครจะเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรนั้น การตรวจซีบีซีก็เป็นเพียงข้อมูลหนึ่ง ซึ่งบางกรณีก็มีประโยชน์มากและสามารถให้การวินิจฉัยบอกโรคได้เลย กรณีที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยหรือเราไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลยนั้น แพทย์ต้องใช้ข้อมูลจากประวัติ การตรวจร่างกายและการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมร่วมด้วย เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน

ดังนั้น เมื่อท่านเห็นผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแล้วถ้ามีความผิดปกติใดๆ ก็อย่าเพิ่งตีความไปมากกว่าค่าของผลการตรวจนั้น เพราะการที่จะวินิจฉัยว่าความผิดปกตินั้นมีสาเหตุจากอะไร แพทย์ต้องพิจารณาข้อมูลจากประวัติเจ็บป่วย ผลการตรวจร่างกายร่วมกับผลการตรวจสืบค้นอื่นๆ อย่าเพิ่งเกิดความตระหนกหรือเป็นกระต่ายตื่นตูมไปก่อน ท่านควรพบแพทย์เพื่อการประเมินต่อไป