คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน: ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผลการสืบค้นเพิ่มเติม

เมื่อเราเจ็บป่วยไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะเริ่มต้นจากการสอบถามประวัติการเจ็บป่วย รายละเอียดว่าเจ็บป่วยเป็นอะไรมา เป็นมานานเท่าไหร่ ทานยาอะไรมาบ้าง หรือมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ต่อจากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่ามีระบบหรือส่วนไหนของร่างกายผิดปกติบ้าง และนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจร่างกายไปร่วมพิจารณาข้อมูลการเจ็บป่วยในตอนแรก ซึ่งแพทย์ก็มักจะได้คำตอบว่าอาการเจ็บป่วยนั้น มีสาเหตุจากอะไร เป็นโรคอะไร แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่แพทย์ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ว่า สาเหตุของการเจ็บป่วย คืออะไร จึงมีความจำเป็นในการส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติม

การสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การที่แพทย์ส่งตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เอมอาร์ไอสมอง และ/หรืออื่นๆ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยการสืบค้นเพิ่มเติมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. ประกอบการวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจเลือดว่าซีดหรือไม่ มีเม็ดเลือดขาวสูงเป็นแสน ผิดปกติเข้าได้กับมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่
  2. ประเมินผลการรักษา เช่น ตรวจวัดระดับไขมันในเลือดหลังให้การรักษา เพื่อดูว่าระไขมันในเลือดหลังได้ยามาแล้ว 3 เดือน ลดลงมาตามที่ต้องการหรือไม่
  3. เตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาหรือการผ่าตัด เช่น ตรวจการแข็งตัวของเลือดว่าปกติหรือไม่ ตรวจอุจจาระว่ามีพยาธิหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้การรักษา

การนำข้อมูลจากการสืบค้นเพิ่มเติมมาประกอบเป็นข้อมูลร่วมกับประวัติและผลตรวจร่างกายนั้น การแปลผลที่ถูกต้อง จะต้องโดยแพทย์ที่ตรวจรักษาผู้ป่วยที่เป็นคนสั่งการตรวจเพิ่มเติมนั้นๆ แต่บางครั้งผู้ป่วยหรือญาตินำผลการตรวจนั้นมาแปลความหมายเอง จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองและเกิดความเข้าใจผิด ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เกิดความกังวลว่าตนเองเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ทำให้มีปัญหาตามมามากมายจากความเข้าใจผิดนี้ เราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงจะเกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ

เหตุที่เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการเล่าประสบการณ์ที่พบมาในการดูแลผู้ป่วย และผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพ เพราะพบปัญหาในการสืบค้นเพิ่มเติมทั้งในแง่ความจำเป็นในการส่งตรวจ การเข้าใจความหมายของผลการตรวจแต่ละชนิด เพราะผลการตรวจนั้นมีข้อจำกัดในแต่ละกรณีแตกต่างกัน และผลรายงานการตรวจนั้นๆ ก็มีความหมายเฉพาะในกรณีต่างๆไม่เหมือนกัน ดังนั้นผมจึงต้องการเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมา อย่างน้อยก็ช่วยให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจที่ดีขึ้นก่อนที่จะพบแพทย์ และเมื่อได้รับการตรวจต่างๆจากแพทย์