คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: เมลาโทนินกับโรคมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เราคงพอจะเคยได้ยินชื่อ ยา หรืออาหารเสริมที่มีชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ที่ส่วนใหญ่รู้จัก เพราะใช้กินเพื่อลด หรือป้องกัน อาการเมาเวลาเหตุการบิน (Jet lag)ซึ่งจากคุณสมบัติบางประการของเมลาโทนิน ทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งก็ได้มีการศึกษาถึงคุณสมบัติของสารนี้ต่อโรคมะเร็งอย่างกว้างขวาง และก็ยังมีการศึกษาอยู่จนถึงปัจจุบัน

เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งของร่างกายเรา และพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆด้วย เช่น วัว ควาย ในคนโมลาโทนินสร้างจากต่อมเล็กๆที่อยู่ในใจกลางสมองที่มีชื่อว่า ต่อมไพเนียล แต่ปริมาณที่มีในร่างกายจะมีเพียงเล็กน้อย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาในการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง จะเป็นเมลาโทนินที่สังเคราะห์ขึ้นในอุตสาหกรรมยา

เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายใช้กำกับเวลากลางวันและกลางคืน จึงเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เกิดการนอนหลับ ฮอร์โมนนี้จะสร้างมากในช่วงเป็นทารก และเป็นเด็ก แต่จะค่อยๆลดปริมาณลงจนจะมีปริมาณน้อยลงมากในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาในเรื่อง การนอนไม่หลับซึ่งรวมถึงหลับได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ตื่น

คุณสมบัติอื่นๆของเมลาโทนิน คือ ในห้องปฏิบัติการ และในสัตว์ทดลอง เมลาโทนินยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้, มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสสระ และยังช่วยในเรื่องของการอยากอาหาร และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจึงควรจะดีขึ้น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นคุณสมบัติที่แพทย์รักษาโรคมะเร็งให้ความสนใจ จนนำมาซึ่งการศึกษาการใช้เมลาโทนินในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะยาเมลาโทนิน มีราคาไม่แพง วิธีการรักษา ง่าย สะดวก คือ การกิน และมีผลข้างเคียงต่ำ

ผลข้างเคียงของยาเมลาโทนิน ถ้ากินยาในปริมาณต่ำ และกินในระยะเวลาสั้นๆ ยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจทำให้มีอาการง่วงนอน (ต้องระวังในการขับรถ การทำงานกับเครื่องจักร) อาจปวดศีรษะ คลื่นไส้ได้ แต่ถ้าใช้ในปริมาณสูงอาจส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง และอาจทำผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอาการเลวลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงผลข้างเคียงของการใช้เมลาโทนินปริมาณต่ำ หรือ ปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานๆเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์เพราะในสัตว์ทดลองพบว่าอาจทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตผิดปกติได้

ผลการศึกษายาเมลาโทนินในการป้องกัน รักษา ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทั้งใช้ยาเมลาโมนิน เพียงชนิดเดียว ใช้ร่วมกับรังสีรักษา และ/หรือร่วมกับยาเคมีบำบัดในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งสมอง ในห้องปฏิบัติการ และในสัตว์ทดลอง ให้ผลบวก (คือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้) แต่การศึกษาในคน ยังไม่ได้ผลชัดเจน

ดังนั้นในปัจจุบัน จึงยังไม่มีการนำเมลาโทนินมาใช้รักษาโรคมะเร็งยกเว้นในการศึกษาวิจัย นอกจากนั้นยังมีผู้ตั้งขอสังเกตว่า จากคุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสสระซึ่งก็เป็นสารเคมี ดังนั้นจึงอาจส่งผลต้านต่อรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัดได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยคนใดกินยาตัวนี้อยู่เอง ควรแจ้งแพทย์ที่รักษามะเร็งเสมอ

การศึกษาผลการใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยมะเร็งเพื่อช่วยให้อยากอาหาร เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และช่วยการนอนหลับ ก็เช่นเดียวกัน ให้ผลดีในสัตว์ทดลอง แต่ให้ผลไม่แน่นอนในคน แพทย์จึงเลือกใช้ยานี้เฉพาะในผู้ป่วยบางราย ตามดุลพินิจของแพทย์

สรุป

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่สามารถยืนยันได้ถึงประโยชน์ที่แท้จริงของ เมลาโทนินในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งในการรักษาตัวโรคและในด้านการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนั้นยังไม่ทราบว่า เมลาโทนิน มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อ รังสีรักษา และ/หรือยาสารเคมี ดังนั้น ก่อนรักษาและระหว่างรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งก่อนเสมอ และเมื่อใช้ยานี้อยู่ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งทราบเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

1. Del Fabbro, E. et al. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23439759 [2014,July19].
2. Melatonin http://en.wikipedia.org/wiki/Melatonin [2014,July19].
3. Melatonin http://www.cancer.org/treatment/treatmentsandsideeffects/complementaryandalternativemedicine/pharmacologicalandbiologicaltreatment/melatonin [2014,July19].

พญ. พวงทองไกรพิบูลย์