คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: จะทำอย่างไรถ้าคนรู้จักเป็นมะเร็ง?

เมื่อรู้ว่า เป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะ ตกใจ กลัว กังวล ไม่อยากเชื่อ สับสน แต่ถ้าไม่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจมาก่อน ผู้ป่วยทุกคนจะปรับตัวได้ ปรับใจได้ ยอมรับ และหันมาต่อสู้ หรือยอมรับการรักษา ช่วงเวลาที่ใช้ในการปรับตัวทั้งหมดจะประมาณ 2-3 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ความกลัว ความกังวล การสับสน การท้อถอย ยังคงมีอยู่ได้ตลอดไป เป็นระยะๆ ขึ้นกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ผลข้างเคียงจากวิธีรักษา ปัญหาชีวิต และการงานในช่วงนั้นๆ

เมื่อเราเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก ที่ไม่ใช่ครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก) ของผู้ป่วย เราจะช่วยผู้ป่วยที่เรารู้จัก รัก หรือเคารพนับถือ หรือ สงสารอย่างไร

ประการสำคัญที่สุด คือ อย่าก่อความกังวล สับสน และ/หรือความหวัง ที่ผิดๆให้กับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย ดังนั้น

- ในการพูดคุยถึงเรื่องการรักษาพยาบาล เราต้องมีสติ ต้องยอมรับ ต้องรู้จริง รู้ว่าเราไม่ใช่แพทย์ เราไม่มีความรู้เรื่องโรคมะเร็งพอที่จะแนะนำใครได้ เรื่องที่เราจะพูดถึง โดยเฉพาะที่จะแนะนำ ต้องเป็นเรื่องที่เรารู้จริง พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ตามคำบอกเล่าว่าดี เช่น ยาสมุนไพรต่างๆ หมอ/แพทย์ที่เก่งต่างๆ เพราะยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวกังวล สับสนมากขึ้น ทั้งทุกข์ และบางครั้งอาจต้องเสียระยะเวลาทองของการรักษา ดังนั้นถ้าผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการของความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์แล้ว เช่น ไปโรงพยาบาลแล้ว เราควรสนับสนุน พูดคุยให้กำลังใจแต่ในด้านบวก ให้ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยมั่นใจว่าได้ตัดสินใจในการรักษาถูกต้องแล้ว การพูดคุยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวเห็นด้านบวกของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ดี พร้อมในการรักษาอย่างมั่นใจ มีกำลังใจ เข้ากับทีมแพทย์ พยาบาลได้อย่างดี กล้าที่จะพูดคุย ปรึกษา บอกเล่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความไม่ไว้วางใจ ความไม่เข้าใจระหว่างทีมแพทย์ พยาบาลกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

- ในเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม รวม วิตามิน เกลือแร่ อาหารเสริม สมุนไพร ยาต่างประเทศต่างๆ ต้องยอมรับว่าเราไม่รู้จริง ฟังเขาเล่ามา ดังนั้น เมื่อซื้อหามาฝาก หรือแนะนำ บอกเล่า ผู้ป่วยและครอบครัวจะยิ่งสับสน กังวล และสิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้าผู้ป่วยบริโภคอาจมีปฏิกิริยากับยาที่แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยอยู่ อาจลดประสิทธิภาพยา หรือเพิ่มผลข้างเคียง ดังนั้น ที่เราจะช่วยได้มาก คือ พูดคุย ถามว่าแพทย์ห้ามอะไร แนะนำอะไร แล้วหาสิ่งที่แพทย์แนะนำ มาสนับสนุนผู้ป่วยจะเหมาะสมกว่า

- คำแนะนำในการดูแลตนเองต่างๆ ควรพูดคุยถามว่า แพทย์แนะนำอะไร ห้ามอะไร และหาทางสนับสนุนในสิ่งที่แพทย์แนะนำ จะช่วยผู้ป่วยและครอบครัวได้มากกว่า คำแนะนำจากคำบอกเล่า ที่จะทำให้ผู้ป่วย/ครอบครัวสับสน กังวล ไม่มั่นใจ ไม่ไว้ใจ กังวลในการรักษาที่ได้รับอยู่ เพิ่มขึ้นอีก ถ้าสิ่งที่เราบอกเล่า ไม่เหมือนที่แพทย์แนะนำ

- พูดคุย สอบถามถึงความต้องการ หรือ การต้องการความช่วยเหลืออะไร แล้วช่วยดูแลในสิ่งที่ผู้ป่วย/ครอบครัวประสงค์ (เช่น ถ้าทำงานด้วยกัน ก็ช่วยแบ่งเบาภาระงานตามที่ผู้ป่วยประสงค์) จะช่วยผู้ป่วยได้ดีกว่าเอาความรู้สึก ความต้องการของเราไปบอกเล่า แนะนำผู้ป่วย เพราะดังกล่าวแล้ว ถ้าต่างจากแพทย์ พยาบาล หรือเป็นด้านลบต่อผู้ป่วย (บางครั้งเราอาจไม่ทันคิด) จะยิ่งเพิ่มความสับสน ความกังวลกับผู้ป่วย/ครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก