คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน รังสีรักษาช่วยเพิ่มระยะเวลาการอยู่ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-262

การรักษามะเร็งตับอ่อนปัจจุบันในโรคระยะที่ยังแพร่กระจาย วิธีการรักษาจะเป็นการผ่าตัด แล้วรักษาต่อเนื่องด้วยยาเคมีบำบัดและอาจร่วมกับการฉายรังสีรักษา แพทย์จึงต้องการทราบว่า การใช้รังสีรักษาเข้ามาร่วมด้วยจะช่วยยืดระยะเวลาอยู่รอดของผู้ป่วยได้หรือไม่ เพราะมะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่ค่อนข้างดื้อต่อรังสีรักษา

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังจากคณะแพทย์โรงพยาบาล Fondazione Policlinico Universitario Agostino Gemelli และ โรงพยาบาล Universita Cattolica del Sacro Cuore กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่นำโดยแพทย์รังสัรักษา ชื่อ Dr. Francesco Cellini และได้นำเสนอผลงานในการประชุมประจำปีของสมาคมรังสีรักษาแห่งยุโรป(ESTRO)ที่จัดขึ้นระหว่าง 5-9 พฤษภาคม 2017 ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย Abstract เลขที่ 0C-0426 ซึ่งเป็นการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนระยะที่ยังไม่มีโรคแพร่กระจาย 514 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วย การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ทั้งนี้ผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ คือ กลุ่มได้รับรังสีน้อยกว่า 45 Gy(Gray/เกร หน่วยของรังสีรักษา), กลุ่มได้รับรังสีฯ 45-น้อยกว่า 50 Gy, กลุ่มได้รับรังสีฯ 50-น้อยกว่า 55 Gy, และกลุ่มได้รับรังสีฯตั้งแต่ 55 Gyขึ้นไป

ผลการศึกษาพบว่ายิ่งผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีสูง ระยะเวลาอยู่รอดของผู้ป่วยยิ่งนานขึ้น โดยผู้ป่วยที่ได้รังสีรักษา น้อยกว่า 45Gyอยู่ได้นานเฉลี่ย 13 เดือน, ได้รับรังสี45-น้อยกว่า 50Gy อยู่ได้นานเฉลี่ย 21เดือน, กลุ่มได้รับรังสีฯ 50-น้อยกว่า 55Gy อยู่ได้นายเฉลี่ย 22เดือน, และกลุ่มได้รับรังสีฯตั้งแต่ 55Gy ขึ้นไป อยู่ได้นานเฉลี่ย 28 เดือน

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า รังสีรักษาในปริมาณรังสีที่สูงขึ้นโดยเฉพาะที่มากกว่า 55Gyขึ้นไป สามารถให้ผลการรักษาที่สูงขึ้นในการจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมีโอกาสอยู่ได้นานขึ้น

จากการศึกษานี้ สนับสนุนว่า เซลล์มะเร็งตับอ่อนตอบสนองต่อรังสีรักษาได้ดี แต่ต้องเป็นรังสีในปริมาณสูง ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่สามารถให้รังสีรักษาปริมาณสูงได้เฉพาะจุด ที่เรียกว่า เทคโนโลยี 3 มิติ (3D radiation, ในประเทศมีใช้อย่างกว้างขวางแล้วตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชน และศูนย์รังสีรักษาของกรมการแพทย์ทุกศูนย์ที่การรักษาครอบคลุมสิทธิ์ผู้มีรายได้น้อย/บัตรทอง)ที่จะช่วยให้แพทย์รังสีรักษา สามารถให้รังสีรักษาผู้ป่วยได้ในปริมาณรังสีที่สูง โดยโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะข้างเคียงตับอ่อนจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ก่ออันตรายรุนแรงต่อผู้ป่วย

การศึกษานี้ สนับสนุนให้มีการใช้รังสีรักษาปริมาณสูงร่วมกับการผ่าตัดและยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งตับอ่อนระยะโรคยังไม่แพร่กระจาย

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นการศึกษาย้อนหลัง จึงสมควรที่จะมีการศึกษาแบบล่วงหน้าต่อไป เพื่อเพิ่มความแม่นยำในผลของการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็งตับอ่อนระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจาย

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.ascopost.com/News/55612[2017,Oct21]