คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ประโยชน์ของการเฝ้าระวังมะเร็งไตระยะแพร่กระจาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การรักษามะเร็งไตในระยะแพร่กระจาย วิธีการหนึ่งคือ การใช้ยารักษาตรงเป้า แต่ยารักษาตรงเป้าสำหรับโรคนี้ เป็นยาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างสูง ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่สุขภาพไม่เหมาะสมกับยารักษาตรงเป้า แพทย์จึงอยากทราบว่า การชะลอการใช้ยารักษาตรงเป้าออกไป จะส่งผลต่อระยะเวลาอยู่รอดของผู้ป่วยหรือไม่

การศึกษานี้ นำโดย นพ.Davide Bimbatti จากมหาวิทยาลัย Verona ประเทศอิตาลี และได้นำเสนอผลการศึกษาในการประชุมประจำปี Clinical Oncology(ASCO) Genitourinary Cancers Symposium ที่จัดขึ้นที่ Florida สหรัฐอเมริกาเมื่อ 16-18 กุมภาพันธ์ 2017

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งไตระยะที่โรคแพร่กระจาย 48 รายในช่วงปี 2007-2016 ที่ยังไม่มีอาการ และแพทย์ใช้การรักษาโดยการเฝ้าสังเกตอาการ ซึ่งถ้าโรคลุกลามมากขึ้น หรือผู้ป่วยมีอาการ แพทย์จะให้การรักษาต่อเนื่องด้วยยารักษาตรงเป้า ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การเฝ้าสังเกตอาการจนโรคมีอาการหรือลุกลามจึงจะเริ่มให้ยารักษาตรงเป้า ไม่มีผลต่ออัตรารอดของผู้ป่วย

แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ เป็นการศึกษาย้อนหลัง จากสถาบันเดียว และจำนวนผู้ป่วยยังน้อย คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า เป็นแนวทางที่ว่า การรักษาด้วยวิธีเฝ้าระวังในผู้ป่วยมะเร็งไตระยะแพร่กระจายน่าจะไม่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยบางกลุ่ม แต่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อการไม่ต้องมีผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้า แต่ก็ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ได้ผลแน่ชัดถึง ข้อดี ข้อเสีย ของการรักษาวิธีการนี้ รวมถึงต้องศึกษาให้ได้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยมะเร็งไตระยะแพร่กระจายกลุ่มใด ที่จะได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีเฝ้าระวังนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.cancernetwork.com/asco-genitourinary-cancers-symposium/does-active-surveillance-benefit-patients-metastatic-rcc [2017,June17].