คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน การแปลผลตรวจแมมโมแกรม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การตรวจภาพเต้านมด้วยรังสี หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ การตรวจแมมโมแกรม(Mammogram) เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง และมีใช้กว้างขวางทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การตรวจโรคทุกวิธีย่อมมีความผิดพลาดได้ไม่ว่าจะมีมาตราการกำกับการตรวจที่เข็มงวดครบถ้วนอย่างไร ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เกิดจากเทคโนโลยี และขนาดของรอยโรค และยังรวมไปถึงข้อจำกัดเฉพาะบุคคลของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการศึกษานี้ต้องการศึกษาหาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการแปลผลตรวจแมมโมแกรมผิดพลาด

อนึ่ง การแปลผลผิดพลาดจากแมมโมแกรม จะมี 2ลักษณะ คือ ถ้า ไม่มีโรคแต่ตรวจแล้วพบว่ามีโรค เรียกว่า “ผลบวกลวง(False positive)” และมีโรคแต่ตรวจแล้วไม่พบมีโรค เรียกว่า “ผลลบลวง(False negative)”

การศึกษานี้ ตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ มกราคม 2016 ในวารสารการแพทย์ชื่อ The Annals of Internal Medicine เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์นำโดย นพ. Heidi D. Nelson จาก the Oregon Health&Science University and Providence Health & Services in Portland

การศึกษานี้ทำในช่วง 2003-2011 โดยการตรวจเต้านมใช้เทคนิคที่เรียกว่า Digital mammogram มีผู้หญิงที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด 405,191 ราย อายุช่วง 48-89ปี ในการนี้ ใน1 ปีหลังการตรวจ พบเป็นมะเร็งเต้านม 2,963 ราย

ผลการศึกษาพบว่า การตรวจแมมโมแกรมเมื่อ

ผลตรวจเป็นผลบวกลวง 121.2 ราย ต่อการตรวจ 1,000ราย ซึ่งพบการแปลผลผิดพลาด มักเป็นปัจจัยมาจากอายุผู้ป่วยช่วง 40-49ปี(วัยที่เต้านมจะมีเนื้อเยื่อพังผืดมาก ทำให้แปลผลตรวจยาก), พบนำไปสู่การต้องตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ 15.6-17.5 รายต่อการตรวจ1,000ราย, นำไปสู่การต้องตรวจแมมโมแกรมซ้ำหรือมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม 124.9ราย ต่อการตรวจ 1,000ราย, นอกจากนั้นยังพบว่า การแปลผลบวกปลอมมักพบในกลุ่มผู้ป่วยอ้วน และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยมีเนื้องอกของเต้านมชนิดไม่ใช่มะเร็ง

ผลตรวจเป็นผลลบลวง พบได้น้อยคือ 1-1.5รายต่อการตรวจ 1,000 ราย และการแปลผลผิดพลาด ไม่ขึ้นกับอายุผู้ป่วย หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น อ้วน

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การตรวจDigital mammogram ให้ผลตรวจแบบผลบวกปลอมได้สูง มักนำมาซึ่งการต้องตรวจแมมโมแกรมซ้ำ หรือต้องตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม โดยมักพบเกิดในผู้ป่วยอายุน้อย และ/หรือมีปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม แต่การตรวจฯที่ให้ผลตรวจแบบผลลบลวง พบได้ต่ำ

สิ่งที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ คือ การตรวจแมมโมแกรม ไม่มีความแม่นยำในการตรวจ100% ผู้รับการตรวจต้องตระหนักถึงความจริงข้อนี้ และควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อการยืนยันผลการตรวจ

บรรณานุกรม

http://annals.org/aim/article/2480755/factors-associated-rates-false-positive-false-negative-results-from-digital [2016,Jan14].