คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอนการออกกำลังกายมีผลต่ออัตรารอดชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งพบบ่อยของผู้ชายวัย 60 ปีขึ้นไป ที่รวมถึงในประเทศไทย โดยเฉพาะในคนเชื้อชาติตะวันตก และชายเชื้อชาติอเมริกันแอฟริกัน

ในการประชุมทางวิชาการประจำปี 2016 ของสมาคมด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ American Association for Cancer Research (AACR) ที่เมือง New Orleans เมื่อ 6-20 เมษายน 2016 ได้มีรายงานถึงความสัมพันธ์ของอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากกับการออกกำลังกายของผู้ป่วย ซึ่งคนทั่วไปน่าได้รับรู้ เพราะการออกกำลังกาย เป็นวิธีการที่ปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีผลข้างเคียง และยังช่วยทำให้สุขภาพกายด้านต่างๆและสุขภาพจิตดีขึ้นร่วมไปด้วย

การศึกษานี้นำโดย ดร. ด้านระบาดวิทยาโรคมะเร็งชื่อ Ying Wang และคณะ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยจากสมาคมโรคมะเร็งที่เมืองแอตแลนตา โดยเป็นการศึกษาด้วยการสอบถามผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในช่วงปี 1992-2011 ที่มีอายุในช่วง 50-93ปี ทั้งหมด10,067 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นโรคระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งการออกกำลังกาย อาจโดยการเดิน วิ่ง วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เล่นเทนนิส เต้นรำ ฯลฯ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ออกกำลังกายปานกลาง ไม่หักโหม อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีอัตรารอดจากมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ออกกำลังกาย 30%

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า การวิจัยนี้สนับสนุนให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากทุกคน ควรออกกำลังกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

จากการศึกษานี้ ก็ตรงกันในประเทศไทย ที่ว่า กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ

บรรณานุกรม

1. http://www.aacr.org/Newsroom/Pages/News-Release-Detail.aspx?ItemID=852#.V7FNZ_l97rc [2016,Dec17].