คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 10

เรายังคงเล่าเรื่องของแพทย์ที่ให้การรักษาตัวโรคมะเร็งว่ามีสาขาไหนบ้าง ซึ่งดังกล่าวแล้วว่า แพทย์รักษาโรคมะเร็งมีหลายสาขามาก ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ซึ่งที่ได้เล่าไปแล้ว คือ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์ หู คอ จมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา และแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์

วันนี้ เป็นการคุยถึงแพทย์รังสีร่วมรักษา รับรองได้ว่า คุณๆผู้อ่านไม่รู้จักแพทย์สาขานี้แน่นอน

แพทย์รังสีร่วมรักษา

แพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional radiology หรือ Interventional radiologist) คือแพทย์ทั่วไปที่ฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยา (Radiology) โดยอาจฝึกอบรมในสาขา รังสีวิทยาทั่วไป (General radiology) หรือ รังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) อีก 3 ปี หลังจากนั้นจึงฝึกอบรมต่อยอดอนุสาขา อีก 1-2 ปีในด้านรังสีร่วมรักษา (Interventional radiology) ซึ่งเรียกว่าแพทย์ด้านรังสีร่วมรักษา

แพทย์รังสีร่วมรักษา จะให้การตรวจและการรักษาโรคต่างๆในทุกระบบของร่างกาย

- ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ จะโดยการตรวจภาพเนื้อเยื่อหรืออวัยวะด้วยการทำอัตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอร่วมไปด้วยในเวลาเดียวกันเพื่อให้แพทย์เห็นภาพเนื้อเยื่ออวัยวะนั้นๆไปพร้อมๆกับการตรวจ การตรวจอาจโดยใช้เข็มที่มีลักษณะเฉพาะ เจาะแล้วดูดเซลล์ หรือของเหลวที่อยู่ในอวัยวะนั้นๆเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา การตรวจเชื้อ และ/หรือเพื่อการเพาะเชื้อ หรืออาจใช้เข็มลักษณะเฉพาะเพื่อตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรืออาจตรวจภาพหลอดเลือดต่างๆโดยการสอดใส่ท่อเล็กๆเข้าไปในหลอดเลือดที่ต้องการตรวจ ซึ่งการตรวจโดยใช้เทคนิคทางรังสีร่วมรักษานี้ จะช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับการตรวจ เพราะแพทย์สามารถมองเห็นรอยโรคได้จากภาพถ่ายรอยโรค (จาก อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ) ในขณะทำการตรวจ แม้ว่ารอยโรคนั้นจะอยู่ในร่างกายที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ก็ตาม

ดังนั้นรังสีร่วมรักษา จึงใช้เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย ทดแทนการต้องผ่าตัดเข้าไปตรวจวินิจฉัยโรค และมักใช้เป็นวิธีในการวินิจฉัยว่าก้อนเนื้อที่ตรวจพบจากอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ เป็นก้อนเนื้อมะเร็ง ก้อนเนื้องอกธรรมดา หรือ ก้อนเนื้อจากการอักเสบ

- ในการรักษาโรคต่างๆ จะมีขั้นตอนและวิธีการเช่นเดียวกับการตรวจ แต่จะเป็นการให้ยาที่จะใช้รักษา ฉีดเข้าไปโดยตรงที่รอยโรคที่ตรวจพบจากอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ หรือ ให้ยาเข้าไปในท่อที่สอดเข้าไปในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงอวัยวะนั้นๆ หรือใส่สารที่ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งรังสีร่วมรักษาเป็นวิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งตับระยะที่ผ่าตัดไม่ได้โดยทำให้หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็งอุดตัน เซลล์มะเร็งจึงขาดเลือด และตายในที่สุดหรืออย่างน้อยก็ลุกลามได้ช้าลง

แพทย์รังสีร่วมรักษา จะมีเฉพาะในบางโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์ครบทุกสาขา ดังนั้นจึงมักเป็นโรงพยาบาลที่มีการสอนนักศึกษาแพทย์และการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน และให้การรักษาผู้ป่วยเฉพาะในระบบรับปรึกษาจากแพทย์ทั่วไปและจากแพทย์สาขาต่างๆ ไม่รับตรวจจรักษาเป็นระบบผู้ป่วยนอก

จบเรื่องแพทย์รังสีร่วมรักษาคะ คราวหน้าจะเป็นเรื่องบทบาทของวิสัญญีแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งคะ