คิดหมกมุ่น (ตอนที่ 1)

คิดหมกมุ่น-1

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน โดยเฉพาะโรคบีดีดี ( Body Dysmorphic Disorder :BDD ) หรือโรคคิดหมกมุ่น ซึ่งเกิดจากการให้คุณค่าเรื่องรูปลักษณ์ของตนเองมากจนเกินไป หรือมีความคาดหวังเกิดขึ้น อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

หรือไม่สามารถยอมรับรูปลักษณ์ของตนเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ทั้งๆ ที่รูปร่างตนเองก็เป็นปกติทั่วไป จนเกิดความทุกข์ เครียด วิตกกังวล อย่างซ้ำซาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือเกิดข้อจำกัดต่างๆ ทางสังคม รวมทั้งสัมพันธภาพกับคนอื่น โดยพบผู้ป่วยโรคนี้เฉลี่ยร้อยละ 1.7 เป็นผู้หญิงร้อยละ 1.9 ส่วนผู้ชายร้อยละ 1.4

โรคบีดีดีนี้ ในทางจิตวิทยาเชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากค่านิยมเรื่องความงามและความเชื่อทางสังคม เช่นเชื่อเรื่องขนาดของอวัยวะเพศ กระแสสังคมขณะนี้ให้ค่านิยมเรื่องความสวยความงามทิศทางเดียวกันทั่วโลก เพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น มีการโฆษณาโดยเฉพาะวงการบันเทิงตามสื่อต่างๆจำนวนมาก จึงเป็นตัวกระตุ้นอยากจะให้ตัวเองดูดีหรือที่นิยมพูดกันว่า ปัง เป๊ะ เว่อร์ เหมือนกับพรีเซนเตอร์

พยายามหาจุดตำหนิ เช่น ริมฝีปากหนา กล้ามเนื้อเล็กไปหน่อย สีของฟันไม่ขาว ทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ เพื่อแก้ปัญหาจุดที่ตัวเองคิดว่ายังไม่ดี เช่น บางคนออกกำลังกายหรือเข้าฟิตเนสอย่างหักโหม เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ พบทันตแพทย์หรือเข้าคลินิกความงามบ่อยๆ ซ้ำๆ

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวอีกว่า ผู้ที่น่าห่วงที่สุดคือ ผู้ที่ทำแล้วผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง ยิ่งก่อให้เกิดความกังวล ความเครียดจากการคิดหมกมุ่น มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยพบว่ากว่าร้อยละ 90 ลงท้ายด้วยการมีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว หลีกหนีสังคม โดยร้อยละ 70 มีภาวะเครียดรุนแรง และพบร้อยละ 20 มีการทำร้ายตัวเองในที่สุด

ด้านนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ผลการวิจัยในแถบยุโรป อเมริกา ในช่วง10 ปีมานี้ พบประชาชนทั่วโลกมีความคิดหมกมุ่นกังวลเกี่ยวกับร่างกายตัวเองเฉลี่ยร้อยละ 34 ในผู้หญิงพบได้ร้อยละ 41 ผู้ชายพบร้อยละ 27

และเป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มผู้ชายพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าอดีตประมาณ 2 เท่าตัว จะพบมากในกลุ่มโสดอายุระหว่าง 15-30 ปี ในส่วนของประเทศไทยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าสถิติไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ส่วนของร่างกายที่มีการคิดหมกมุ่นมากอันดับหนึ่งได้แก่

  • ปัญหาเส้นผม เช่น ผมบาง หนาเกินไป ร้อยละ 63
  • ปัญหาเกี่ยวกับจมูก เช่นจมูกไม่โด่ง จมูกเบี้ยว และปัญหาสุขภาพผิว เช่น สิว ปาน ไฝ พบร้อยละ 50 เท่ากัน
  • ปัญหาเกี่ยวกับตา เช่น ตาชั้นเดียว ตาเล็ก หนังตาตก ร้อยละ 27
  • ปัญหาโครงสร้างร่างกายเช่น อ้วน ผอม หรืออยากมีกล้ามเนื้อ ร้อยละ 20
  • ปัญหาริมฝีปาก เช่น หนาหรือบางเกินไป ปัญหาเกี่ยวกับคาง กรามเป็นเหลี่ยม พบร้อยละ17 เท่ากัน
  • ปัญหาเรื่องฟัน เช่น ฟันเหลือง ฟันห่างร้อยละ 13

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง! พบคนไทยรุ่นใหม่ป่วยโรค "หมกมุ่นรูปลักษณ์ตัวเอง" กังวลไม่ปัง-เป๊ะ-เว่อร์. http://www.tnews.co.th/contents/383010 [2017, December 6].