ความจำเสื่อมชั่วคราว (ตอนที่ 1)

ความจำเสื่อมชั่วคราว

“ความทรงจำ” ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบให้กับชีวิตเรา เนื่องจากหากขาดสิ่งดังกล่าวไป ก็จะทำให้มีความยากลำบากในแทบทุกจะด้าน และคงผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไปอย่างยากลำบาก ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายอาการดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่โรคนี้กลับไม่แสดงผลข้างเคียงในระยะยาวนัก เพราะว่าโรค Transient global amnesia (TGA) หรือ โรคความจำเสื่อมชั่วคราวนี้ เป็นโรคแค่วันเดียว แล้วทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเป็นปกติ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเปรียบเสมือนแค่ว่า เป็นแค่หลับไปหนึ่งตื่น และทุกอย่างจะกลับมาปกติเท่านั้น

โรคความจำเสื่อมชั่วคราว หรือ Transient global amnesia (TGA) หมายถึง กลุ่มอาการที่มีการสูญเสียความทรงจำที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และมีอาการอยู่เพียงชั่วคราวน้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 โดยการศึกษาของนายแพทย์ Morris Bender จากประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหนึ่งการศึกษาในปีเดียวกันของนายแพทย์ Guyotat ร่วมกับ Courjon ที่ประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาในปี พ.ศ.2507 นายแพทย์ Miller Fisher และนายแพทย์ Raymond Adam ได้ตีพิมพ์รวบรวมรายงานผู้ป่วยจำนวน 17 ราย และให้คำอธิบายกลุ่มอาการดังกล่าว จนทำให้โรคนี้เริ่มที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา และเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คนที่เป็นโรคความจำเสื่อมชั่วคราวจะยังคงรู้สึกตัว เคลื่อนไหวได้ตามปกติ พบมากในผู้สูงอายุ โดยผู้เป็นโรคนี้จะมีอายุอยู่ระหว่าง 47-80 ปี หรือโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 62 ปี และระยะเวลาที่ความจำเสื่อมจะมีตั้งแต่นาน 20 นาที – 20 ชั่วโมง หรือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมง

ในสหรัฐอเมริกามีการประเมินว่า ในจำนวนประชากร 100,000 คน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวน 5.2 คน แต่สำหรับประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเป็นมากขึ้น โดยในจำนวน 100,000 คน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวนถึง 23.5 คน

อาการทั่วไปของโรคความจำเสื่อมชั่วคราว คือ จะมีการสูญเสียความทรงจำอย่างเฉียบพลัน โดยจะสูญเสียความจำแบบไปข้างหน้าเป็นหลัก (Anterograde amnesia) กล่าวคือ ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงเกิดอาการได้ ร่วมกับการสูญเสียความจำแบบย้อนหลัง (Retrograde amnesia) ซึ่งหมายถึง ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเกิดอาการนี้ไม่นาน เช่น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีอาการครั้งนี้ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นต้น

แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมชั่วคราวได้จากลักษณะดังต่อไปนี้

  • ความจำเสื่อมเฉียบพลัน
  • ยังคงจำเรื่องอัตลักษณ์ส่วนบุคคล (Personal identity) ได้แม้ว่าจะความจำเสื่อม
  • ระลึกได้ถึงชื่อเรียกและทิศทางของสิ่งที่คุ้นเคย
  • ไม่มีปฏิกริยาบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสมองบางส่วนถูกทำลาย เช่น แขนขาเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่สะดวก หรือจำคำไม่ได้

แหล่งข้อมูล

1. ไม่ได้มีแค่ในหนัง ... TGA โรคความจำเสื่อมระยะสั้นๆ. http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=959000008992 [2016, October 7].

2. Transient global amnesia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/transient-global-amnesia/basics/definition/con-20032746 [2016, October 7].

3. Transient Global Amnesia. http://emedicine.medscape.com/article/1160964-overview [2016, October 7].

4. Definition of Transient global amnesia. http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=33047 [2016, October 7].