คลั่งผอมเสี่ยงตาย (ตอนที่ 6)

คลั่งผอมเสี่ยงตาย-6

ทั้งนี้ สมาคมจิตเวชของอเมริกัน (The American Psychiatric Association) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ของการวินิจฉัยว่าเป็นโรคคลั่งผอม (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders / DSM-5) หรือไม่ ดังนี้

  • มีการจำกัดอาหาร – กินน้อยกว่าที่จำเป็นในการรักษาน้ำหนักให้พอดีกับอายุและส่วนสูง
  • กลัวน้ำหนักเกิน – มีพฤติกรรมที่กลัวอ้วน เช่น กินแล้วล้วงให้อาเจียน กินยาระบาย
  • มีปัญหาเรื่องรูปร่าง – บิดเบือนการรรับรู้ในรูปร่าง

ผู้ที่มีความผิดปกติเรื่องการกินสามารถรักษาได้ อย่างไรก็ดี คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงในการกลับมาเป็นซ้ำ (Relapse) ถึงร้อยละ 50 หากอยู่ในระหว่างช่วงเวลาที่เครียดหรือมีสิ่งกระตุ้น เช่น การลดน้ำหนักหลังคลอด ดังนั้น จึงควรมีการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือนัดเป็นช่วงๆ

สำหรับแนวทางการรักษาโรคคลั่งผอมจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น

  • การรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรณีที่มีอาการรุนแรง มีโรคแทรกซ้อน ขาดอาหารรุนแรง หรือไม่ยอมกินอาหาร อาการแทรกซ้อนของโรคคลั่งผอมจำเป็นต้องการการเฝ้าระวังอยู่บ่อยๆ เช่น การวัดสัญญาณชีพ การวัดระดับน้ำและเกลือแร่ การให้อาหารทางสายยาง ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้กลับมามีสุขภาพปกติ
  • นักโภชนาการ (Dietitian) ช่วยให้คำแนะนำในการกินอาหาร เพื่อให้มีแคลอรี่ตามน้ำหนักที่ต้องการ
  • จิตบำบัด (Psychotherapy) ซึ่งอาจประกอบด้วย
    • ครอบครัวบำบัด (Family-based therapy) – เป็นวิธีที่เหมาะจะใช้กับวัยรุ่นที่เป็นโรคคลั่งผอม เพราะวัยรุ่นเหล่านี้ไม่สามารถเลือกอาหารที่กินได้ดี เป็นวิธีให้พ่อแม่ช่วยให้เด็กกินได้ดีเพื่อให้น้ำหนักพอเหมาะกับตัวจนกว่าเด็กจะดูแลตัวเองได้ นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวต้องทำความเข้าใจโรค และทำตามคำแนะนำของแพทย์ด้วย การบำบัดรายบุคคล (Individual therapy) – เป็นการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) เหมาะกับผู้ใหญ่ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีพฤติกรรมการกินเพื่อให้ได้น้ำหนัก และมีวัตถุประสงค์รองเพื่อการปรับความคิดความเชื่อที่ผิดๆ ในการกิน
  • การใช้ยา – ยังไม่มียาชนิดไหนที่ได้รับการรับรองว่าสามารถรักษาโรคคลั่งผอมได้ดี มีเพียงยาต้านซึมเศร้าหรือยาบำบัดทางจิตที่สามารถช่วยรักษาความผิดปกติเท่านั้น
  • การแพทย์สนับสนุน (Complementary medicine) ที่สามารถใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน (Conventional medicine) ในการช่วยลดความวิตกกังวล เพิ่มความผ่อนคลาย ซึ่งได้แก่
    • การฝังเข็ม (Acupuncture)
    • การนวด (Massage)
    • การเล่นโยคะ (Yoga)
    • การทำสมาธิ (Meditation)

    แหล่งข้อมูล:

    1. Anorexia nervosa. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/anorexia/home/ovc-20179508 [2017, May 28].