คลั่งผอมเสี่ยงตาย (ตอนที่ 1)

คลั่งผอมเสี่ยงตาย-1

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ในขณะที่หลายฝ่ายพยายามควบคุมภาวะเด็กอ้วนให้น้อยลงนั้น ปัจจุบันก็พบว่ามีสถิติเด็กที่เป็นโรคคลั่งผอมเพิ่มมากขึ้น โดยอายุน้อยสุดที่พบอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากเดิมที่พบได้ในระดับมหาวิทยาลัย

พญ.อัมพร กล่าวว่า โรคคลั่งผอมเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้ไม่มาก เลยไม่ได้มีการเก็บสถิติเอาไว้ แต่จากสถิติที่ได้จากการรักษาผู้ป่วยพบว่า เพิ่มขึ้นมากแบบที่เรียกว่าผิดสังเกต จากเดิมตรวจคนไข้ 100 คนจะพบผู้ป่วยคลั่งผอมอยู่ 1 คน ตอนนี้ตรวจ 20 คนก็พบได้ 1 คน

สาเหตุของโรคมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ

  1. มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตอื่นๆ เซลล์สมองและสารในสมองทำงานไม่ลงตัวกัน
  2. เป็นเรื่องทางอารมณ์ จิตใจ ส่วนใหญ่เป็นเด็กในเมือง บ้านมีความพร้อม มีฐานะ ผลการเรียนดี แต่เมื่อดูลึกๆ แล้ว เด็กจะมีความกดดัน เครียด มีการต่อต้านพ่อแม่อยู่ลึกๆ และ
  3. สภาพสังคมที่ให้คุณค่ากับความสวยงามภายนอก ความผอม และวัตถุ เป็นปรากฏการณ์ที่กดดันเด็ก ซึ่งเคยมีการศึกษาในประเทศที่มีความนิยมกีฬาลีลาส บัลเลต์มากๆ ที่นักกีฬาพวกนี้ต้องสวย ต้องผอม ก็ทำให้เด็กของประเทศนั้นเป็นโรคคลั่งผอมจำนวนมาก

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยก็มีค่านิยมความงามที่ภายนอก รูปร่างต้องผอม การโฆษณาต่างๆ มีแฟชั่นที่เน้นใส่แล้วสวย รูปร่างดี มีผลต่อเด็กๆ วัยรุ่นทั้งนั้น และว่าการใช้ยาลดความอ้วนในประเทศไทยก็น่าจะมาจากสาเหตุนี้ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเราพบว่าเด็กที่เป็นโรคนี้มีประวัติค้นหาและใช้ยาลดความอ้วน รวมถึงซื้อยาถ่ายมาใช้ มีการล้วงคอให้อาเจียน เขาจะคิดว่าตัวเขายังอ้วนอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่คนอื่นต่างก็มองเห็นว่าเด็กคนนี้ผอมมากแล้ว

พญ.อัมพร กล่าวย้ำว่า กรณีการคลั่งผอมนั้นนับว่ามีอันตรายมากกว่าภาวะอ้วนด้วยซ้ำ เพราะมีความเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตได้เฉียบพลัน บางคนอ่อนแรงหกล้มฟาดพื้นได้ง่าย ที่สำคัญเมื่อวัดระดับชีพจรแล้วแผ่วเบามาก เสี่ยงช็อคเสียชีวิต บางคนอัตราการเต้นของชีพจรอยู่แค่ 38- 40 ครั้งต่อนาที ในขณะที่คนปกติอัตราการเต้นของชีพจรจะอยู่ที่ 70-72 ครั้งต่อนาที

โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ แต่ค่อนข้างต้องใช้เวลา เพราะค่อนข้างซับซ้อน นอกจากเป็นโรคทางจิตเวชแล้ว ยังมีผลกระทบทางร่างกายหลายอย่างตามมา เช่น มีปัญหาเรื่องการทำงานของไต เป็นโรคขาดสารอาหาร มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ การทำงานของหัวใจ ขนร่วง ขนหยาบ ดังนั้นอาจจะต้องพบแพทย์หลายด้าน

สิ่งสำคัญคือ ต้องอาศัยความเข้าใจของเด็กและผู้ปกครองอย่างมาก ผู้ปกครองที่เห็นลูกหลานเป็นอย่างนี้ อาจจะเสียใจ ผิดหวัง แต่การแสดงความรู้สึกนี้จะยิ่งทำให้การเป็นโรคของเด็กๆ แย่ลง ดังนั้นผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจโรค และทำตามคำแนะนำของแพทย์ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. พบเด็กไทยเป็น"โรคคลั่งผอม"สถิติล่าสุด1ใน20. http://www.thaipost.net/?q=พบเด็กไทยเป็นโรคคลั่งผอมสถิติล่าสุด1ใน20 [2017, May 22].
  2. อึ้ง! พบเด็กป.3 เป็นโรคคลั่งผอม. http://www.msn.com/th-th/news/national/อึ้ง! พบเด็กป.3-เป็นโรคคลั่งผอม/ar-BBAJ2z6?li=AA54uu [2017, May 22].