คลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คลอโรฟิลล์(Chlorophyll หรือ Chlorophyl) เป็นองค์ประกอบของพืชที่มีสีเขียว พบมากที่ใบหรือตามส่วนต่างๆของลำต้น อย่างเช่น กิ่ง ก้าน คลอโรฟิลล์มีหน้าที่สังเคราะห์แสงโดยใช้น้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาเป็นวัตถุดิบ เกิดผลผลิตเป็นน้ำตาลกลูโคส(Glucose)และออกซิเจนตามมา

สารคลอโรฟิลลิน(Chlorophyllin) คือคลอโรฟิลล์จากใบผักที่นำมาเติมธาตุโลหะอย่างเช่น โซเดียม และทองแดง เกิดเป็นสารประเภทเกลือกึ่งสังเคราะห์ที่เรียกว่า Chlorophyllin sodium copper salt(Sodium copper chlorophyllin หรือ Chlorophyllin copper complex) ส่งผลให้ได้คลอโรฟิลล์ที่ละลายน้ำได้มากยิ่งขึ้น คลอโรฟิลลินในรูปแบบอาหารเสริมถูกนำมาใช้กับผู้สูงอายุเพื่อลดกลิ่นตัวของร่างกาย(สารระงับกลิ่นกาย) กลิ่นของปัสสาวะ และกลิ่นอุจจาระ หรือใช้รับประทานร่วมกับอาหารเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกและท้องอืด บำบัดอาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือลดกลิ่นผู้ที่รับการผ่าตัดลำไส้เพื่อสร้างทวารเทียม(Colostomies) อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์ยังไม่ยอมรับสรรพคุณของคลอโรฟิลลินที่กล่าวมาทั้งหมด เราจึงพบเห็นการจำหน่ายคลอโรฟิลลินในท้องตลาดแบบอาหารเสริมมากกว่าการใช้เป็นยา

ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์คลอโรฟิลลิน ควรศึกษาคุณประโยชน์ที่จะได้รับจริงๆ ผู้บริโภคสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์ หรือจากแพทย์และเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

คลอโรฟิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

คลอโรฟิลลิน

กลไกการออกฤทธิ์ของคลอโรฟิลลินตามสรรพคุณที่ว่า ลดกลิ่นของปัสสาวะและอุจจาระ บรรเทาอาการท้องผูก หรือช่วยบำบัดอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เราจึงไม่พบเห็นคลอโรฟิลลินขึ้นทะเบียนเป็นยาในประเทศไทย

สารคลอโรฟิลลินเมื่อนำมาละลายน้ำ จะได้สารละลายที่มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ตามธรรมชาติ ดังนั้นการใช้คลอโรฟิลลินเติมผสมเพื่อแต่งสีอาหารให้ดูน่ารับประทานจึงเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอาหาร หรือไม่ก็นำมาผสมในสูตรตำรับวิตามินรวมเพื่อให้ได้สีเขียวจากธรรมชาติ(Natural green 3)

คลอโรฟิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สารคลอโรฟิลลิน เป็นคลอโรฟิลล์ที่สกัดมาจากพืชผัก มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็น อาหารเสริม

  • แบบผงสีเขียวที่ผสมน้ำแล้วดื่มรับประทาน
  • บรรจุในแคปซูลสำหรับรับประทาน

ผลข้างเคียงของคลอโรฟิลลินมีอะไรบ้าง?

นอกจากอาการแพ้สารคลอโรฟิลลินที่อาจเกิดกับผู้บริโภคบางรายเท่านั้น ยังมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อื่นที่ถูกเก็บรวบรวมเป็นสถิติและพอจะสรุปได้ดังนี้

  • ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือไม่ก็มีอาการท้องเสีย
  • ทำให้อุจจาระและปัสสาวะมีสีเขียว
  • อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัดเมื่อ รับประทานคลอโรฟิลลิน

*อนึ่ง กรณีที่รับประทานคลอโรฟิลลิน แล้วมีอาการข้างเคียงแตกต่างไปจากข้างต้นผู้บริโภคควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์คลอโรฟิลลินแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

เก็บรักษาคลอโรฟิลลินอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์คลอโรฟิลลินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์คลอโรฟิลลินลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

คลอโรฟิลลินราคาถูกและดีมีที่ไหนบ้าง?

เป็นที่ทราบกันดีว่า พืชผักใบเขียวต่างๆในประเทศไทยเรามีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรค อุดมไปด้วยสารอาหารอย่าง วิตามิน แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระอีกมากมาย ผู้ที่รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำนอกจากจะมีสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ยังจะมีภูมิต้านทานและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งหลายชนิด ช่วยการขับถ่ายอุจจาระ ป้องกันริดสีดวงทวาร ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างเหมาะสม ลดน้ำตาลในเลือด การรับประทานผักจะทำให้เราได้คลอโรฟิลล์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น’คลอโรฟิลลิน’ที่ ราคาถูกและดีมีในผักครับ

บรรณานุกรม

  1. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-626/chlorophyllin [2018,July21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorophyllin [2018,July21]
  3. https://www.drugs.com/mtm/chlorophyllin.html [2018,July21]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/viotrum%20multivitamin%20plus/?type=brief [2018,July21]
  5. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/108006 [2018,July21]
  6. https://metrohealth.net/healthwise/chlorophyllin/ [2018,July21]
  7. https://www.healthline.com/nutrition/servings-of-vegetables-per-day#section3 [2018,July21]