คร. เตือน 4 โรคจากแดดร้อน

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ว่า ขณะนี้อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งเข้าหน้าร้อนช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนจะร้อนมาก และอาจก่อให้เกิดภาวะโรคจากแดด [Heat illness]

ในวันที่มีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส [อุณหภูมิร่างกายของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 36–37 องศาเซลเซียส] ประกอบกับเกิดภาวะขาดน้ำ จะมีโอกาสเกิด 4 โรคหลักอันได้แก่ โรคลมแดด (Heat stroke) โรคเพลียแดด (Heat exhaustion) โรคตะคริวแดด (Heat cramps) และผิวหนังไหม้แดด (Sunburn)

ภาวะที่รุนแรงที่สุดคือ โรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายได้ ในภาวะร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายจะสูงเกิน 40.6 องศาเซลเซียส แล้วจะทำให้เกิดอาการเป็นลม ตัวร้อนจัดแต่ร่างกายไม่ขับเหงื่อออก หากรุนแรงผู้ป่วยอาจชักและเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงวัยและมีโรคเรื้อรัง

อาการดังกล่าวอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด หรืออาจพบได้ในคนที่ร่างกายแข็งแรง แต่ออกกำลังหักโหมเกินไป เช่นนักกีฬา รวมไปถึงการฝึกทหาร หรือผู้ใช้แรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกกำลังกายกลางแดดจัด ก็ไม่ควรนานเกิน 1–2 ชั่วโมง

ถัดมาคือโรคเพลียแดด ที่อาจวิวัฒนากลายเป็นโรคลมแดด แต่ผู้เป็นโรคนี้จะยังคงรู้สึกตัวอยู่ โรคเพลียแดดเกิดจากการเสียเหงื่อมาก มีอาการอ่อนเพลีย หายใจเร็ว ชีพจรต่ำ หากรุนแรงก็จะมีอาการปวดศีรษะ มึนงง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และอาเจียนได้

สำหรับโรคตะคริวแดด มักเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก (เช่นวิ่ง) ในที่ที่อากาศร้อน เสียเหงื่อมาก รวมทั้งไม่ได้รับน้ำและเกลือแร่ทดแทนที่เพียงพอ มีผลให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง เป็นตะคริว โดยเฉพาะที่หน้าท้อง (Abdomen) แขนขา และน่อง มักไม่เกิดขึ้นทันที แต่เกิดในเวลาต่อมา ตอนกลางคืนหรือเมื่อผ่อนคลาย

ส่วนผิวหนังไหม้แดดนั้น เกิดจากการที่ผิวหนังถูกแสงแดดแผดเผาจากรังสียูวี (Ultraviolet: UV) จนเป็นสีแดง และก่อให้เกิดอาการแสบร้อน อ่อนเพลีย และวิงเวียนศีรษะเล็กน้อย การได้รับรังสียูวีมากเกินไป อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นกรณีที่เกิดได้น้อยมาก ส่วนการได้รับรังสียูวีในปริมาณพอเหมาะ จะทำให้ผิวสีคล้ำลง (Suntan)

หากพบผู้เป็นลมแดดให้พาเข้าในที่ร่ม โดยนอนราบและยกเท้าสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ปลดเสื้อผ้าให้หลวม ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณศีรษะ ซอกคอ รักแร้ และอุ้งเชิงกราน หรือเทน้ำที่เย็น (แต่ไม่เย็นจัด) ลงบนตัว และควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดาในปริมาณมาก แล้วนำส่งสถานพยาบาล

ทั้งสี่โรคที่มีแดดร้อนเป็นสาเหตุนี้ เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เมื่ออยู่ในความร้อนที่สูงเกินไป ก็อาจทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สั่งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ตัวชี้วัดที่ดีสุดว่าร่างกายขาดน้ำหรือเสียเหงื่อมากเกินไปหรือไม่ก็คือ สีของปัสสาวะ หากเป็นสีเหลืองเข้ม บ่งบอกถึงความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะขาดน้ำ

แอลกอฮอล์ คาเฟอีน สารกระตุ้น และยาบางตัว ก็มีผลยับยั้งความสามารถในการระบายความร้อนของร่างกาย และหากจำเป็นต้องออกไปอยู่กลางแจ้งขณะแดดจัด ก็ควรสวมเสื้อผ้าบางที่ทำจากใยธรรมชาติ (ผ้าฝ้าย 100%) สีอ่อน สวมหมวกปีกกว้าง และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด

แหล่งข้อมูล:

  1. ระวัง 4 โรคหน้าร้อน “ลมแดด- เพลียแดด- ตะคริวแดด- ผิวหนังไหม้” http://manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000026884 [2012, March 3].
  2. Heat illness. http://en.wikipedia.org/wiki/Heat_stroke [2012, March 3].
  3. Heat cramps. http://en.wikipedia.org/wiki/Heat_cramps [2012, March 3].
  4. Sunburn. http://en.wikipedia.org/wiki/Sunburn [2012, March 3].