ครีมกันแดด (Sunscreen)

สารบัญ

บทนำ

ครีมกันแดด

ครีมกันแดด (Sunscreen) คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหนัง เพื่อปกป้องผิวหนังจากรังสียูวี (UV: Ultraviolet light/อุลตราไวโอเลต/อัลตราไวโอเลต) จากแสงแดดจัด ที่มีอยู่ในหลายรูป แบบ เช่น ครีม โลชัน ฯลฯ

ชนิดของครีมกันแดด แบ่งตามชนิดของสารกรองแดด (UV filter) ที่เป็นส่วนประกอบได้ดังนี้ คือ

  • สารกรองแดดอนินทรีย์ (Inorganic UV filter) มักเป็นสารทึบแสงที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงที่กระทบมา สามารถกันได้ทั้งรังสีอัลตร้าไวโอเลต/รังสียูวี และแสงที่มองเห็น (Visible light) โดยไม่ก่อปฏิกิริยาเคมีกับผิวหนัง ด้วยคุณสมบัติที่ปกป้อง เหมือนเคลือบผิวไว้ จึงมักเรียกครีมกันแดดในกลุ่มนี้ เป็น ครีมกันแดดที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพ/ออกฤทธิ์ภายนอก (Physical sunscreen)

    ข้อดีคือ ดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย ทำให้เกิดการแพ้น้อย

    แต่มีข้อเสียคือ ครีมมักข้น เหนียวเหนอะเหนะเมื่อทาผิว

    โดยสารกันแดดในกลุ่มนี้ เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide, ZnO2), ไททาเนียมไดออก ไซด์ (Titanium Dioxide, TiO2)

  • สารกรองแดดอินทรีย์ (Organic UV filter) เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดซับแสงที่มากระ ทบกับผิวหนัง แล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน ดังนั้นอาจเรียกว่าเป็นครีมกันแดดที่ออกฤทธิ์ทางเคมี (Chemical sunscreen) มีความสามารถในการกรองแสงแตก ต่างกันตามชนิดของสารกรองแสง ซึ่งมีความสามารถในการป้องกันรังสียูวี เอ (UV- A) และรังสียูวี บี (UV- B) แตกต่างกัน

    ข้อเสียที่สำคัญคือ สารกันแดดในกลุ่มนี้มักไม่คงทน (Instability) และสามารถทำให้ผิว หนังเกิดการแพ้ได้ (เช่น คัน ขึ้นผื่น)

    สารกันแดดในกลุ่มนี้ เช่น

ชื่อเคมีสามัญ CE No. ชื่อสามัญ ชื่อการค้า ตัวย่อชื่อสามัญ
Broad-Spectrum and UVAI (340-400nm)
Bis-Ethylhexyloxyphenol Methoxyphenyl Triazine Bemotrizinol S 81 Tinosorb BEMT
Butyl Methoxydibenzoylmethane S 66 Avobenzone Parsol 1789 BMBM
Diethylamino Hydroxybenzoyl Hexyl Benzoate S 83 - Uvinul A Plus DHHB
Disodium Phenyl Dibenzimidazole Tetrasulfonate S 80 Bisdisulizole Disodium Neo Heliopan AP DPDT
Drometrizole Trisiloxane S 73 - Mexoryl XL DTS
Menthyl Anthranilate - Meradimate - MA
Methylene Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol S 79 Bisoctrizole Tinosorb M MBBT
Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid S 71 Ecamsule Mexoryl SX TDSA
Zinc Oxide S 76 Zinc Oxide ZnO (Nanox) ZnO
UVB (290-320nm) and UVAII (320-340nm)
4-Methylbenzylidene Camphor S60 Enzacamene Eusolex 6300 MBC
Benzophenone-3 S 38 Oxybenzone - BP3
Benzophenone-4 S 40 Sulisobenzone Uvinul MS40 BP4
Polysilicone-15 S 74 - Parsol SLX PS15
Diethylhexyl Butamido Triazone S 78 - Uvasorb HEB DBT
Ethylhexyl Rimethyl PABA S 08 Padimate O Eusolex 6007 EHDP
Ethylhexyl Methoxycinnamate S 28 Octinoxate Uvinul MC 80 EHMC
Ethylhexyl Salicylate S 13 Octisalate Neo Heliopan OS EHS
Ethylhexyl Triazone S 69 Octyltriazone Uvinul T 150 EHT
Homomenthyl Salicylate S 12 Homosalate Eusolex HMS HMS
Isoamyl p-Methoxycinnamate S 27 Amiloxate Neo Heliopan E1000 IMC
Octocrylene S 32 Octocrylene Uvinul N 539 T OCR
Phenylbenzimidazole Sulfonic Acid S 45 Ensulizole Eusolex 232 PBSA
Titanium Dioxide (nano) S 75 Titanium Dioxide Eusolex T2000 TiO2
Tris Biphenyl Triazine (nano) S 84 - Tinosorb TBPT

แหล่งอ้างอิง : Jansen R, Osterwalder U, Wang SQ, Burnett M, Lim HW. Phototprotection: Part II. Sunscreen: Development, efficacy, and controversies. J Am Acad Dermatol 2013; 69(6): 869.e1-14.

SPF คืออะไร?

SPF (เอส พี เอฟ) ย่อมาจาก Sun Protection Factor เป็นค่าประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันรังสียูวี บี (UV B) ว่า ป้องกันได้มากกว่าปกติกี่เท่า เช่น SPF 30 หมายถึง ถ้าในคนปกติ ผิวหนังจะมีอาการแดงเมื่อตากแดดเป็นเวลา 15 นาที แต่เมื่อใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 30 ผิวหนังจะแดงเมื่อตากแดดเป็นเวลา 15x30=450 นาที อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจริง แสงแดดมีความแรงไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งการเสียดสี และเหงื่อ ทำให้ค่าความสามารถในการป้องกันแสงต่ำกว่าค่าที่ได้จากห้องทดลอง ดังนั้นจึงแนะนำให้ทาครีมกันแดดซ้ำประมาณ ทุก 2-4 ชั่วโมง เพื่อให้มีประสิทธิภาพปกป้องผิวที่ดีขึ้น

PPD คืออะไร?

PPD (พี พี ดี) ย่อมาจาก Persistent Pigment Darkening เปรียบได้เสมือน SPF กล่าว คือ เป็นการบอกประสิทธิภาพของครีมกันแดดว่าสามารถป้องกันรังสียูวี เอ ได้กี่เท่าเมื่อเทียบกับผิวปกติ เช่น PPD 8 คือบริเวณที่ทาครีมกันแดดจะเกิดผิวคล้ำขึ้นได้ช้ากว่าผิวปกติ 8 เท่า

PA คืออะไร?

PA (พี เอ) ย่อมาจาก The protection grade of UV A เป็นระบบหนึ่ง ในการบอกประ สิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันรังสียูวี เอ (UV A) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้มากในเอเชีย แบ่ง เป็น

ระบบ PA จำนวนเท่าในการป้องกันรังสียูวี เอ (เปรียบเทียบกับที่ไม่ได้ใช้ครีมกันแดด)
PA+ 2-4
PA++ 4-8
PA+++ >8

ควรทาครีมกันแดดอย่างไร?

ควรทาครีมกันแดด ดังนี้

  • ควรทาครีมก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที
  • ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมคือ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตรของเนื้อที่ผิว โดยทั่ว ไป สำหรับบริเวณใบหน้าและคอ ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมคือ 2 ช้อนชา หรือประ มาณ 2 ข้อนิ้วมือ (ดังภาพ) อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติมักทำได้ยาก จึงแนะนำให้ทา

    ครีมกันแดด 2 รอบ โดยแต่ละรอบใช้ครีมกันแดดปริมาณประมาณ 1 ข้อนิ้วมือแทน

  • ควรทาครีมกันแดดซ้ำ ทุก 2-4 ชั่วโมง

ครีมกันแดดที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร?

ครีมกันแดดที่ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มี SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 30
  • ปกป้องครอบคลุมทั้ง UV A และ UV B (Broad spectrum)
  • กันน้ำได้ (Water resistant)

ครีมกันแดดชนิดต่างๆแตกต่างกันอย่างไร?

ครีมกันแดดชนิดต่างๆ (เช่น ครีม โลชัน เจล สเปรย์) แตกต่างกันที่ส่วนประกอบ ความสบายผิวเมื่อใช้ และการให้ความชุ่มชื้นกับผิว เช่น ครีมกันแดดชนิดครีมเหมาะสำหรับบริเวณที่ผิวแห้ง เพราะจะให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้ดีกว่า ในขณะที่ชนิดโลชันจะทาง่าย แต่จะมีปริมาณสารกรองแดดที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า ดังนั้นในการทาโลชันกันแดด ต้องใช้ปริมาณมากกว่าชนิดครีมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเท่าครีมกันแดด

ดังนั้น ผู้ใช้ครีมกันแดด จึงควรต้องอ่านเอกสารกำกับการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนการใช้เสมอ ร่วมกับการสังเกตว่า ตนเองพอใจ หรือเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์รูปแบบชนิดใด

ครีมกันแดดมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากครีมกันแดด ได้แก่

  • สามารถทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้
  • สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้

ใครมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ครีมกันแดด?

ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า ใครจะได้รับผลข้างเคียง/แพ้ ครีมกันแดด โดยครีมกันแดดที่มีสารกรองแดดอินทรีย์ จะมีโอกาสเกิดผื่นแพ้ได้มากกว่า ในขณะที่ครีมกันแดดที่มีสารกรองแดดอนินทรีย์ จะมีโอกาสเกิดการอุดตันและเป็นสิวได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการแพ้ครีมกันแดดอาจเกิดจาก การระคายเคือง (Irritation) ของสารต่างๆที่เป็นส่วนประกอบในครีมกันแดดต่อผิวโดยตรง, แพ้สารกันเสีย (Preservatives), และ/หรือ แพ้ส่วนประกอบอื่นๆเช่นเดียว กับการแพ้ผลิตภัณฑ์ทั่วไป

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดผลข้างเคียงจากครีมกันแดด?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดผลข้างเคียง/แพ้ครีมกันแดด คือ ควรหยุดครีมกันแดด และต้องแยกว่าเป็นผื่นแพ้ หรือเกิดการอุดตันจากการใช้ครีม จึงดูแลรักษาตามสาเหตุนั้นๆ

ถ้าเป็นผื่นแพ้ แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจทดสอบผื่นแพ้สัมผัสว่า แพ้สารกรองแดดตัวใด, สารกันเสียตัวใด, หรือเป็นการระคายเคืองของส่วนประกอบในครีม และ

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมที่มีส่วนประกอบของสารที่แพ้ตลอดไป

สามารถใช้ครีมกันแดดในเด็กได้หรือไม่?

โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้เด็กเล็ก หรือทารก อยู่ในที่ที่แสงแดดจัด ควรหลบแดดในร่มหรือใส่เสื้อผ้า หมวกปกป้อง อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดด สามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน และควรเป็นครีมกันแดดชนิดที่มีสารกรองแดดที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพ/เฉพาะภายนอก ไม่ดูดซึมเข้าร่างกาย เป็นหลัก

หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรใช้ครีมกันแดดได้หรือไม่?

หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถใช้ครีมกันแดดได้ เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยน แปลงระหว่างช่วงตั้งครรภ์ จะกระตุ้นให้เกิดฝ้ามากขึ้นได้ และอาจป้องกันแดดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การอยู่ในที่ร่ม การใส่เสื้อผ้าปกคลุม การใส่หมวกปีกกว้าง และเช่นเดียวกับการใช้ในเด็ก คือ ควรเลือกชนิดที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพเป็นหลัก

บรรณนุกรม

  1. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. แนวทางในการใช้ Sunscreen
  2. สมาคมแพทย์ผิวหนังสหรัฐอเมริกา http://www.aad.org [2013,Dec10].
  3. Sunscreen. http://en.wikipedia.org/wiki/Sunscreen [2013,Dec10].
  4. Jansen R, Osterwalder U, Wang SQ, Burnett M, Lim HW. Phototprotection: Part II. Sunscreen: Development, efficacy, and controversies. J Am Acad Dermatol 2013; 69(6): 869.e1-14.