คนแต่งงานแล้วมีโอกาสรอดตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าคนโสด

รายงานข่าว จาก WebMD Health News โดย Cari Nierenberg

บางคนคิดว่า คนโสดมักมีชีวิตอิสระ แต่เมื่อพิจารณาตลอดช่วงชีวิตแล้ว คนโสดอาจไม่ได้มีอิสระมากนักในเรื่องสุขภาพ อย่างน้อยก็เรื่องความเสี่ยงของการรอดตายจากโรคมะเร็ง ผลการศึกษาวิจัยพบว่า คนโสดมีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าคนที่แต่งงานแล้ว

ทีมนักวิจัยเฝ้าติดตามตัวเลขของผู้ตายด้วยโรคมะเร็ง 13 ประเภท ซึ่งรวมทั้ง โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งลำไส้ และโรคมะเร็งปอด จากผู้ป่วยชายและหญิงชาวนอรเวย์ กว่า 440,000 คน ในช่วงเวลาเกือบ 40 ปี จาก พ.ศ. 2513 ถึง 2550

ในภาพรวม ชายโสดและหญิงโสดปรากฏผลที่เลวร้ายกว่าคนที่แต่งงานแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยแต่งงานมาก่อนมีปัจจัยเสี่ยงการตายจากโรคมะเร็งสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่แต่งงานแล้ว ผู้ที่หย่าแล้ว หรือผู้ที่เป็นหม้าย ผลการศึกษาวิจัยนี้ตีพิมพ์ [เผยแพร่] ออนไลน์ในวารสาร BMC Public Health

การศึกษาวิจัย ระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2517 พบว่า ชายที่ไม่เคยแต่งงานมาก่อน มีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าชายที่แต่งงานแล้ว 18% แต่ช่วงเวลาที่ใกล้ปัจจุบัน การศึกษาวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2550 พบว่าชายที่ไม่เคยแต่งงานมาก่อน มีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าชายที่แต่งงานแล้วถึง 35% [กล่าวคืออัตราเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว]

การศึกษาวิจัย ระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2517 พบว่า หญิงที่ไม่เคยแต่งงานมาก่อน มีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าหญิงที่แต่งงานแล้ว 17% แต่ช่วงเวลาที่ใกล้ปัจจุบัน การศึกษาวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2550 พบว่าหญิงที่ไม่เคยแต่งงานมาก่อน มีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าหญิงที่แต่งงานแล้วถึง 22% [กล่าวคืออัตราเพิ่มขึ้น 1.3 เท่าตัว]

การศึกษาวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ขยายตัวขึ้นในช่วงปีที่ใกล้ปัจจุบัน ระหว่างอัตราผู้อยู่รอดของชายและหญิงที่แต่งงานแล้วกับคนโสด แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักสำหรับอัตราการตายจากโรคมะเร็งของผู้เป็นหม้ายหรือหย่าร้างแล้ว ส่วนอัตราการตายในชายโสดสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอไปตามช่วงอายุ โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 70 ปีขึ้นไป

ดร. Astri Syse แห่ง Cancer Registry of Norway กล่าวในการแถลงข่าวว่า ความแตกต่างดังกล่าวอาจอธิบายได้ด้วยสภาวะร่างกายโดยทั่วไปในช่วงเวลาที่วินิจฉัยโรค หรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดระหว่างรับการบำบัดอย่างเคร่งครัด ทีมนักวิจัยยังเชื่อว่า การได้รับการการสนับสนุน [กำลังใจ] จากคู่สมรสระหว่างและภายหลังการบำบัดอาจสร้างผลแตกต่างในอัตราการรอดตาย คนที่แต่งงานแล้วอาจมีแนวโน้มของการรับการตรวจวิเคราะห์โรคมะเร็งแต่เนิ่นๆ จากการคะยั้นคะยอของคู่สมรสให้ไปพบแพทย์เป็นประจำ

ทีมนักวิจัยตั้งข้อสมมุติฐานว่า คู่สมรสอาจมีวิถีชีวิตที่เอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพ อาทิ อาหารการกิน หรือการสูบหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ที่น้อยลง และสุขภาพจิตที่แข็งแรงกว่าชายและหญิงที่เป็นโสด แต่จุดอ่อนของการศึกษาวิจัยนี้อยู่ที่การขาดข้อมูลเพียงพอที่จะระบุว่า คนโสดนั้นเป็นโสดจริงๆ หรืออาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น

เรื่องนี้อาจทำให้หลายคนที่เกิดทัน นึกถึงราชานักร้องเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ เจ้าของผลงานเพลงดังๆ รวมทั้งเพลงที่ชื่อ “เป็นโสดทำไม?” โดยเนื้อเพลงนั้นได้พรรณนาถึงเหตุผลทั้งปวงที่ควรดำรงชีวิตคู่มากกว่าอยู่เป็นโสด ลงเอยด้วยการชักชวนให้หนุ่มสาวมาแต่งงานกัน จบอย่างมีความสุข (Happy Ending) เหมือนภาพยนตร์ไทยทั่วไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Married People More Likely to Survive Cancer. http://www.webmd.com/cancer/news/20111014/married-people-more-likely-survive-cancer [2011, October 19].