ขี้ลืม หลงลืม (Forgetfulness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลายคนคงสงสัยว่าตนเองเป็นอะไร ชอบลืมโน่นลืมนี้เป็นประจำ จะอ่านหนังสือก็หาแว่น ตาไม่พบ ทั้งๆที่แขวนไว้ที่คอตนเอง หรือสวมไว้ที่ศีรษะแล้ว จนถูกลูกๆบอกว่า “แม่ขี้ลืม พ่อขี้ลืม” เป็นต้น แล้วเราจะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเปล่า ต้องติดตามบทความนี้ครับ

ขี้ลืมคืออะไร?

ขี้ลืม

ขี้ลืม (Forgetfulness) ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะหนึ่งที่คนเราอาจจำอะไรไม่ได้ เช่น จำชื่อคนที่เคยรู้จักมานานไม่ได้, จำไม่ได้ว่าตนเองวางสิ่งของไว้ตรงไหน, จำไม่ได้ว่าก่อนออกจากบ้านปิดไฟในห้องนอนหรือยัง ซึ่งเป็นการลืมในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และมักเป็นเรื่องปัจจุบัน ซึ่งเป็นความจำในระยะสั้น (Recent memory, ความสามารถจำในสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นได้) โดยทั่วไปมักไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต

ขี้ลืมเกิดจากสาเหตุอะไร?

ขี้ลืม เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • สมาธิไม่ดี
  • ไม่ได้ใส่ใจในสิ่งนั้น กิจกรรมนั้น
  • ภาวะรีบเร่ง
  • ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
  • นอนไม่พอ
  • หรือแม้การทาน ยานอนหลับ ยาลดน้ำมูก ก็อาจทำให้ลืมได้ง่าย

หลงลืมคืออะไร? ต่างจากขี้ลืมอย่างไร?

คำนี้ “หลงลืม” มีการพูดกันบ่อย แต่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม หรือศัพท์แพทย์ใดๆ (ผู้เขียนพยายามหาคำภาษาอังกฤษแล้ว ไม่พบคำที่เหมาะสมพอจะไปกันได้) และจากการสอบถามแพทย์หลายท่าน และตามความเข้าใจจากการดูแลผู้ป่วยของผู้เขียนเอง

  • “หลงลืม” หมายถึง ลืมบางสิ่งบางอย่าง บางกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งการลืมเรื่องทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง (Remote memory, ความสามารถในการจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาในระยะไม่นานนัก)
  • “ขี้ลืม” จะไม่มีการลืมความจำระยะกลาง หรืออีกนัยหนึ่งคือ “หลงลืม” มีระดับความสำคัญหรือรุนแรงมากกว่า “ขี้ลืม” เช่น ต้มน้ำไว้แล้วลืมปิดแก๊ส พอนึกออกก็รีบวิ่งไปปิดแก๊ส แต่น้ำก็แห้งหมดแล้ว เป็นต้น
  • อาจกล่าวได้ว่าคำว่า “หลงลืม”นั้น เราอาจใช้บรรยายคนที่มีอาการ “ขี้ลืมเป็นประจำ” และเริ่มมีอาการลืมที่รุนแรงขึ้น เริ่มส่งผลต่อการดำรงชีวิต เราจึงอาจเรียกว่า “ขี้หลงขี้ลืม” หรือ “หลงๆลืมๆ”

หลงลืมเกิดจากสาเหตุอะไร?

หลงลืม มีสาเหตุหลากหลาย เช่น

  • ภาวะซึมเศร้า
  • ภาวะวิตกกังวล อย่างแรง
  • ผลข้างเคียง /อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น ยากันชักบางชนิด ยานอนหลับบางชนิด ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด
  • อาการลืมตามวัย (Aging process)
  • หรือจากโรคสมองเสื่อม (Dementia)

ภาวะเสียความจำคืออะไร? เกิดจากอะไร? ต่างจากขี้ลืมและหลงลืมอย่างไร?

ภาวะเสียความจำหรือจำไม่ได้ (Amnesia) คือ อาการจำไม่ได้ชั่วคราวที่เกิดขึ้นมาทันที เช่น หลังจากที่ทะเลาะกับเพื่อนก็จำเพื่อนที่ทะเลาะไม่ได้ โดยความจำส่วนอื่นๆและร่างกายส่วนอื่นๆเป็นปกติ ทั้งนี้มีสาเหตุ เช่น เกิดจากความเครียดอย่างรุนแรง อุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์

ภาวะเสียความจำ/อาการจำไม่ได้ จะมีอาการเพียงชั่วคราว ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นเฉพาะบางเรื่องในช่วงนั้นๆ ซึ่งมักจะเป็นความจำระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง รวมทั้งอาจลืมในทุกๆเรื่องก็เป็นไปได้ เช่น ลืมหมดทุกอย่างว่าตนเองชื่ออะไร เป็นใคร มาทำอะไร อายุเท่าไหร่ บ้านอยู่ที่ไหน คนรอบข้างไม่รู้จักเลย (Global amnesia) และก็ค่อยๆดีขึ้น ไม่ได้เป็นประจำถาวร

ส่วนขี้ลืม ก็เป็นอาการที่ลืมในช่วงสั้นๆ ในสิ่งที่กำลังจะทำแค่นั้น

ส่วนหลงลืมนั้น เป็นการลืมทั้งในระยะสั้น และระยะปานกลาง อาการอาจดีขึ้นถ้าแก้ไขสา เหตุได้

อย่างไรก็ตาม ขี้ลืม หลงลืม และภาวะเสียความจำ เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความสับสนไปมาระหว่างคำต่างๆเหล่านี้ โดยสรุปก็คือ

  • “ขี้ลืม”ไม่เป็นโรคที่ต้องกังวลใจอะไร
  • “หลงลืม” จำเป็น ต้องตรวจประเมินเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุที่ต้องแก้ไข
  • ส่วน”ภาวะเสียความจำ” จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้นที่ความสูญเสียความจำไป แต่ก็หายดีเป็นปกติภายหลัง

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของ ภาวะเสียความจำได้ในเว็บ haamor.com ได้ในบท ความเรื่อง ภาวะเสียความจำ

อาการเพ้อคืออะไร? ต่างจากขี้ลืมและหลงลืมอย่างไร?

อาการเพ้อ/สับสนฉับพลัน (Delirium หรือ Confusion) คือ อาการสับสน เอะอะโวยวาย ไม่ยอมนอนเป็นเวลา เป็นขึ้นมาอย่างฉับพลัน/เฉียบพลัน เพียงช่วงระยะเวลาไม่นาน เช่น เฉพาะช่วงกลางคืน พอรุ่งเช้าก็ดีขึ้น ผู้ป่วยจะจำไม่ได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ตรงนี้เองจึงทำให้ญาติเกิดอารมณ์ว่า เมื่อคืนผู้ป่วยทำอะไรที่ไม่เหมาะสมมากมาย แต่พอเช้าบอกจำไม่ ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น

อาการเพ้อเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะติดเชื้อ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ผลข้าง เคียงจากสารเสพติด การขาดออกซิเจน เป็นต้น

อาการเพ้อต่างกับ ขี้ลืม หลงลืม เพราะผู้ป่วยจะไม่รู้ เวลา สถานที่ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น มีเอะอะโวยวาย และมีอาการ ในระยะเวลาที่นานกว่า เช่น เป็นชั่วโมงๆ หรือตลอดคืน จึงมีลักษณะที่ต่างจากขี้ลืม หลงลืม ชัดเจน

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่อง อาการเพ้อได้ในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง อาการเพ้อ)

ขี้ลืม หลงลืม และสมองเสื่อมแตกต่างกันอย่างไร?

อาการขี้ลืม หลงลืม กับสมองเสื่อม (Dementia) มีลักษณะแตกต่างกัน ดังตาราง

(อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่อง สมองเสื่อม ได้ในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง โรคสมองเสื่อม)

อาการ ขี้ลืม หลงลืม ต้องพบแพทย์หรือไม่?

ถ้าเรามีอาการ ขี้ลืม หรือ หลงลืม และได้พิจารณาจากข้อมูลข้างต้นในหัวข้อต่างๆ พบว่าเหมือนกับอาการขี้ลืมของเราทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ต้องหาทางแก้ไขอาการดัง กล่าว โดย

  • การหาสาเหตุว่าทำไมเราจึงมีอาการขี้ลืม ถ้าพบสาเหตุที่ต้องแก้ไข
  • โดยควรฝึกให้ตนเองมีสมาธิกับกิจกรรมที่ทำมากขึ้น
  • ลดความกังวล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆที่ไม่จำเป็น
  • แต่ถ้าอาการขี้ลืมเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตการทำงาน ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ประเมินอาการและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

*ส่วนอาการหลงลืมนั้น ถ้าเราสงสัยว่าจะมีปัญหา เพราะลืมบ่อยขึ้น ลืมเรื่องที่ไม่น่าจะลืม และรู้สึกว่าความสามารถเราเริ่มมีปัญหา แนะนำว่า

  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ประเมินว่าเป็นเพียงแค่ ขี้ลืม ไม่มีสมาธิ กังวล หรือว่า เริ่มมีอาการหลงลืมตามวัย หรือหลงลืมที่อาจเป็นอาการเริ่มต้นของสมองเสื่อม

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นขี้ลืม หลงลืม ไม่ใช่จาก จำไม่ได้ สมองเสื่อม หรือ สับ สน?

การวินิจฉัยภาวะ ขี้ลืม หลงลืม ภาวะเสียความจำ อาการเพ้อ หรือสมองเสื่อม ทำได้โดย

  • การพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ และอาการที่ผู้ป่วยหรือญาติให้ข้อมูลเป็นหลัก
  • ร่วมกับการตรวจร่างกาย
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • และการตรวจทางจิตเวชด้วยแบบทดสอบที่เรียกว่า Mini-mental state examination

แพทย์รักษาอาการขี้ลืม หลงลืมอย่างไร?

การรักษา แก้ไข อาการ ขี้ลืม หลงลืม คือ การหาสาเหตุให้พบแล้ว รักษา แก้ไขสาเหตุนั้นๆ เช่น

  • ถ้าเกิดจากผลข้างเคียงของยาก็หยุดยานั้นๆ
  • ถ้าไม่มีสมาธิ หรือมีความกังวล ก็แก้ไขตรงนั้น
  • การฝึกให้มีการบันทึก จดงานที่ต้องทำ
  • การทำงานให้เป็นระเบียบ ก็ช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้นได้

การทานอาหารเสริม ยาบำรุงสมอง หรือเครื่องดื่มบำรุงสมอง ช่วยป้องกันขี้ลืมและหลง ลืมได้หรือไม่?

การทานสิ่งต่างๆที่กล่าวข้างต้น ไม่มีประโยชน์ใดๆทั้งสิ้นต่ออาการ ขี้ลืม หรือหลงลืม หลักฐานทางการแพทย์ไม่พบว่ามีประโยชน์ใดๆ และอาจเกิดผลข้างเคียงเช่น การแพ้ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน) และ/หรือ เกิดการตีกันของยา/ปฏิกิริยาระหว่างยารักษาโรคต่างๆที่ผู้ป่วยเป็น อยู่กับผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้นได้

เมื่อมีอาการขึ้ลืม หลงลืม ควรดูแลตนเองอย่างไร?

อาการขี้ลืมนั้นแก้ไขโดยการมีสมาธิกับงานนั้นๆ ไม่รีบเร่ง ไม่กังวล ไม่ทำงานหลายๆอย่างในเวลาเดียวกันก็เพียงพอ

แต่ถ้ามีอาการของหลงลืม อาจต้องปรับพฤติกรรมเหล่านั้นมากขึ้น เช่น การฝึกสมองให้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมของสมอง

ส่วนอาหารที่ทานนั้น ไม่มีข้อมูลที่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า อาหารชนิดใดที่จะบำรุงสมองให้ดีขึ้นได้ชัดเจน การทานอาหารก็ทานตามข้อปฏิบัติของโรคประจำตัวที่มีอยู่ ร่วมกับกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน โดยจำกัดอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล และเค็ม เพิ่มผัก ผลไม้ ควบคุมไม่ให้มีน้ำหนักตัวเกิน/โรคอ้วน ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์

อาการขี้ลืม หลงลืม ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเคยพบแพทย์ การพบแพทย์ก่อนนัดกรณีมีอาการ ขี้ลืม หลงลืม แนะนำว่า ถ้าสังเกตว่าอาการต่างๆเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี เช่น วิงเวียน ขี้ลืม หลงลืม มากขึ้น จนส่งผลต่อการดำรงชีวิต มีการนอนผิดปกติไป และ/หรืออาการต่างๆที่เคยมี ทรุดลงเร็ว ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

การพยากรณ์โรคของอาการขี้ลืม หลงลืมเป็นอย่างไร?

ในการพยากรณ์โรค อาการขี้ลืมไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นเพียงอาการ และไม่ก่อให้เกิดปัญ หาในการดำรงชีวิต ถ้าได้รับการจัดการในพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี อาการขี้ลืมก็หายเป็นปกติ

ส่วนอาการหลงลืมนั้น ถ้าเป็นหลงลืมเพราะมีภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล เมื่อได้แก้ไขปัญ หาเหล่านั้นแล้ว อาการหลงลืมก็ดีขึ้น

กรณีเป็นอาการหลงลืมตามวัย เมื่อได้มีการฝึกสมอง ปรับกิจกรรมต่างๆให้เหมาะสม ก็มีการพยากรณ์โรคที่ดี เช่นกัน

ป้องกันไม่ให้ขี้ลืม หลงลืมได้หรือไม่?

การป้องกันไม่ให้มีอาการขี้ลืม หรืออาการหลงลืมนั้น ทำได้โดย

  • การฝึกทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันให้เป็นระเบียบ
  • มีการจดบันทึก
  • ผ่อนคลาย ไม่เครียด หรือวิตกกังวลเกินไป
  • มีการฝึกสมอง/ออกกำลังสมองอย่างต่อเนื่อง เช่น การเล่นเกม การท่องจำ การแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ การร้องเพลง เป็นต้น
  • และถ้ามีโรคประจำตัว ก็ต้องรักษาควบคุมโรคให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่อสมอง อาการขี้ลืม และหลงลืมก็จะไม่เกิด ขึ้น

ดังนั้น เราต้องรู้จักรักสมอง รักร่างกายตนเอง โดยการป้องกันไม่ให้เป็นโรคต่างๆ หรือเมื่อเป็นแล้วก็ต้องรักษาควบคุมให้ดี ถ้าสงสัยว่าตนเองมีปัญหาด้านความจำ หรือมีความผิดปกติทางสมอง ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล