ขาดส้วมเมื่อใด เป็นเรื่องเมื่อนั้น (ตอนที่ 1)

ขาดส้วมเมื่อใด_เป็นเรื่องเมื่อนั้น

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีส่งมอบและเปิดป้ายส้วมสุขอนามัยในโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะที่ 2 ปี 2559 ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ที่โรงเรียนดวนใหญ่วิทยา อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ

นพ.วชิระ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการก่อสร้างห้องส้วมใหม่ หรือปรับปรุงส้วมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ส้วมที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดศรีสะเกษ ที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 5 แห่ง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติกำหนดว่า นักเรียน 50 คนจะต้องมีส้วม 1 ห้อง โดยกรมอนามัย กำหนดให้มีส้วม 2 แบบให้เลือกใช้ ทั้งแบบนั่งยองกับชักโครก ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า หากไม่มีการจัดการส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาล รวมทั้งวิธีการใช้ส้วมที่ผิดวิธี ส้วมจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ที่ผ่านมากรมอนามัยดำเนินการพัฒนาสุขภาพเด็ก สามเณร และจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนมีส้วมที่มีมาตรฐาน HAS คือ สะอาด (Healthy) เพียงพอ (Accessility) และปลอดภัย (Safety)

ทั้งนี้ มีการพบว่าโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีปัญหาสำคัญ คือ ความขาดแคลนส้วมในโรงเรียนและสภาพส้วมชำรุดไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่สะอาดมีคราบสกปรก

การมีส้วมใช้ถือเป็นความจำเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

องค์การสหประชาชาติประกาศว่า ในจำนวนประชากร 7,000 ล้านคน มี 6,000 ล้านคน ที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่มี 2,500 ล้านคน ที่ไม่มีห้องส้วมใช้ มี 1,100 ล้านคนขับถ่าย ในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข และทั่วโลกมีเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 760,000 คน เสียชีวิตจากการท้องเสียท้องร่วงในแต่ละปี ถ้ามีน้ำดื่มที่สะอาดและการอนามัยพื้นฐานที่ดีการเสียชีวิตของเด็ก เหล่านี้ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น จากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจึงผ่านมติว่า ให้กำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก เพื่อให้ทุกคนมีแนวคิดที่มีห้องน้ำห้องส้วมที่สะอาด กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเกี่ยวกับแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ. 2556-2559 ว่า วัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการใช้ส้วมนั่งราบในสถานที่บริการสาธารณะและในครัวเรือน เพื่อความปลอดภัย ลดการเกิดข้อเข่าเสื่อม หากใช้ส้วมนั่งยองเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ที่มีประมาณ 6-8 แสนคนต่อปี

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ. 2556-2559 ได้กำหนดให้สถานที่สาธารณะ 12 แห่ง จะต้องมีส้วมนั่งราบบริการอย่างน้อยแห่งละ 1 ที่ ภายในปี 2559

บรรณานุกรม

1. พัฒนา ‘ส้วม’ ให้ถูกสุขอนามัย. http://www.thaihealth.or.th/Content/32915-พัฒนา ‘ส้วม’ ให้ถูกสุขอนามัย.html [2016, November 16].

2. แผนพัฒนาส้วมสาธารณะไทย. http://www.thaihealth.or.th/Content/3012-แผนพัฒนาส้วมสาธารณะไทย.html [2016, November 16].