ลมชัก:ขั้นตอนการรักษาโรคลมชัก

ขั้นตอนการรักษาโรคลมชัก

โรคลมชักเป็นโรคที่มีผลการรักษาดีมาก สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยากันชักชนิดเดียวสูงถึงร้อยละ 65 ดังนั้น เราต้องรู้จักการดูแลตนเองให้ดี และถ้ามีอาการชักควรเข้าใจวิธีการรักษา ซึ่งมีแนวทางดังต่อไปนี้ 7 ขั้นตอน คือ

  1. มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เป็นๆ หายๆ ให้รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินให้ละเอียดว่าเป็นอาการผิดปกติจากอะไร ถ้าเป็นอาการชักจะได้รีบให้การรักษาที่ถูกต้อง ลดโอกาสการเกิดอันตรายต่อสมองได้
  2. แพทย์จะพิจารณาอาการผิดปกติดังกล่าว ถ้าสงสัยว่าเป็นอาการชัก จะพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจเลือด เป็นต้น ซึ่งการวินิจฉัยส่วนใหญ่อาศัยประวัติของอาการผิดปกติมากที่สุด ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติ และบันทึกภาพมาด้วยจะช่วยให้การวินิจฉัยได้ดีที่สุด
  3. แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์สมอง เอ็มอาร์ไอสมอง คลื่นไฟฟ้าสมอง ก็ตามข้อบ่งชี้และความพร้อมของสถานบริการนั้นๆ อย่างไรก็ตามถ้ามีความจำเป็นในการส่งตรวจ และสถานพยาบาลนั้นไม่มีเครื่องมือ ระบบการส่งต่อของแพทย์ก็จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลระดับสูงขึ้น เพื่อให้การรักษานั้นเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาเดียวกันทั่วทั้งประเทศ
  4. เมื่อผลการตรวจทั้งหมดยืนยันว่าเป็นอาการชักแน่ๆ และหาสาเหตุเรียบร้อย ย้ำว่าเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นอาการชัก โรคลมชัก ก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้การรักษาสาเหตุร่วมด้วยเสมอ การรักษาโรคลมชักนั้นจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการรักษาระหว่างข้อดี ข้อเสียของการรักษาและยาที่ใช้รักษาเสมอ
  5. การเลือกยากันชักที่ใช้รักษาในผู้มีอาการชักแต่ละคนนั้นอาจไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะมีอาการชักแบบเดียวกันก็ตาม แพทย์จะพิจารณาจากอายุ เพศ โรคร่วม อาชีพ และความต้องการของผู้ป่วยด้วยเสมอ การรักษาที่ดีนั้นต้องปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เพื่อให้การควบคุมอาการชักทำได้ดีมากขึ้น
  6. การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องทำในทุกคน จากผู้ป่วย 100 คนนั้นอาจมีผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียง 10 คน เช่น สาเหตุการชักจากโรคเนื้องอกสมอง อุบัติเหตุต่อสมอง กลีบสมองส่วนขมับฝ่อ เป็นต้น
  7. การรักษานั้นจะใช้เวลานานประมาณ 3-5 ปี คือจะต้องควบคุมไม่ให้มีอาการชักเลย 2 ปี แล้วจะค่อยๆ ลดยากันชักลงจนหยุด
  8. โรคลมชัก รักษาให้หายได้ไม่ยาก ไม่อันตรายและน่ากลัวอย่างที่คิด