ของฝากจากน้ำท่วม (ตอนที่ 11)

ของฝากจากน้ำท่วม

ปัจจัยเสี่ยงของโรคน้ำกัดเท้าที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

  • เพศชายจะมีความไวในการเป็นมากกว่าเพศหญฺง
  • มีประวัติในการไวต่อการติดเชื้อรา
  • มีภาวะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง (Impaired immune system) เช่น เป็นโรคเบาหวานหรือโรคมะเร็ง
  • อาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นอบอุ่น
  • ผู้ที่อายุมากมีโอกาสเป็นได้มากกว่าเด็ก

ปัจจัยเสี่ยงของโรคน้ำกัดเท้าที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

  • การปล่อยให้เท้าอับชื้น
  • การใส่รองเท้าที่รัดและอากาศถ่ายเทลำบาก
  • การใช้ที่อาบน้ำหรือห้องที่มีตู้เก็บและเปลี่ยนเสื้อผ้า (Locker rooms) ร่วมกับคนอื่น โดยไม่ใส่รองเท้าอาบน้ำ (Shower shoes)
  • การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำเป็นระยะเวลานาน

การรักษาโรคน้ำกัดเท้าขึ้นกับชนิดและความรุนแรงที่เป็น ส่วนใหญ่มักรักษาได้เองที่บ้านด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal medicine) เพื่อฆ่าเชื้อหรือทำให้เชื้อเจริญเติบโตช้าลง โดย

  • ยาที่ซื้อได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา (Nonprescription antifungals) ได้แก่ ยา Clotrimazole ยา Miconazole ยา Terbinafine และยา Tolnaftate ซึ่งเป็นยาทาผิวหนังเฉพาะที่ (Topical medicines).
  • ยาที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ (Prescription antifungals) กรณีที่การซื้อยาใช้เองไม่ได้ผลหรือมีการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ยา Butenafine ยา Clotrimazole และยา Naftifine ซึ่งใช้ทาเฉพาะที่ นอกจากนี้ยังมียาเม็ดที่ใช้สำหรับกิน เช่น ยา Fluconazole ยา Sporanox และยา Terbinafine

ทั้งนี้ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นหลังการใช้ยาต้านเชื้อรา ผู้ป่วยก็ควรใช้ยานั้นจนครบคอร์ส เพื่อลดโอกาสในการเป็นซ้ำอีก อย่างไรก็ดี การติดเชื้อซ้ำก็เป็นเรื่องที่ปกติและจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างเต็มทุกครั้งที่เป็น

กรณีที่มีอาการปวดและคัน เภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ครีมสเตียรอยด์อย่างอ่อนเพื่อลดอาการดังกล่าว แต่ควรใช้ครีมสเตียรอยด์ในเวลาที่สั้นและใช้ควบคู่กับยาต้านเชื้อรา

ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์ผิวหนังหากมีกรณีต่อไปนี้เกิดขึ้น

  • เท้าแตก ตกสะเก็ด หรือลอกอย่างรุนแรง
  • มีตุ่มพองที่เท้า
  • มีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งได้แก่
    • อาการแดงขยายตัวจากบริเวณที่เป็น
    • มีหนอง
    • มีไข้มากกว่า 38°C โดยไม่มีสาเหตุอื่น
  • การติดเชื้อลุกลาม
  • เป็นโรคเบาหวาน (เพราะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่เท้าและขา)
  • อาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์หลังการรักษา

บรรณานุกรม

1. Athlete's Foot - Topic Overview. http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/tc/athletes-foot-topic-overview#1 [2017, January 27].

2. Athlete's Foot. http://www.medicinenet.com/athletes_foot/article.htm [2017, January 27].