กินเนื้อดิบๆ สุกๆ ระวังโรคทริคิโนซิส (ตอนที่ 2)

กินเนื้อดิบๆสุกๆระวังโรคทริคิโนซิส-2

      หลังจากอาทิตย์แรกผ่านไป ตัวอ่อนของพยาธิจะเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อลายของผู้ป่วย จะทำให้มีอาการไข้สูง หน้าบวม หนังตาบวม เยื่อบุตาอักเสบเเละมีเลือดออกใต้หนังตา ตาพร่า อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อเเละกดเจ็บ การเคลื่อนไหวแขนขาทำได้ลำบาก การพูด หายใจ กลืน เเละเคี้ยวอาหารได้ลำบาก ขึ้นอยู่กับพยาธิเข้าไปอยู่ที่ส่วนใดของร่างกาย หากประชาชนมีอาการข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที

      นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การรับประทานผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ความร้อน และระยะเวลาที่เหมาะสม อย่างน้อย 80 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 นาที จะสามารถทำลายตัวอ่อนของพยาธิได้ และทำความสะอาดเครื่องมือในการปรุง ประกอบอาหารด้วย อีกทั้งควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ

      ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตลอดปี 2560 ประเทศไทยพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 24 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคเหรือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออก อายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29.17 รองลงมาคืออายุ 45 - 54 ปี ร้อยละ 25.10

      โรคทริคิโนซิส (Trichinosis / Trichinellosis / Trichiniasis / Trichinelliasis) เป็นการติดเชื้อที่เกิดจากพยาธิตัวกลม ชื่อ ทริคิเนลล่า สไปราลิส (Trichinella spiralis) โดยพยาธิตัวอ่อนจะฝังตัวในร่างกาย (Host body) และแพร่พันธุ์ มักเกิดในผู้ที่กินเนื้อดิบหรือเนื้อที่ยังไม่สุก (Undercooked meat) เช่น หมู

      เมื่อคนกินเนื้อที่ยังไม่สุกที่มีเชื้อพยาธิ เชื้อจะเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้หลายสัปดาห์ และจะแพร่ไปยังเนื้อเยื่อต่างรวมถึง กล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่โรคทริคิโนซิสมักมีการแพร่ระบาดในเขตชนบททั่วโลก

      โดยหลังการติดเชื้อ 1-2 วัน อาการแรกจะเกิดที่ช่องท้อง ส่วนอาการอื่นมักจะเริ่มเป็นใน 2-8 สัปดาห์ ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณเชื้อพยาธิที่อยู่ในเนื้อที่กินเข้าไป ซึ่งหากมีปริมาณน้อยก็อาจจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด หากมีปริมาณปานกลางหรือปริมาณมากก็อาจจะแพร่กระจายเป็นเชื้อทั่วร่างกายได้

อาการเบื้องต้น ได้แก่

  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้และอาเจียน

อาการสัปดาห์ต่อมาหลังการติดเชื้อ พยาธิจะสร้างตัวอ่อนตามผนังลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด และสุดท้ายจะชอนไชเข้าสู่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่ออื่น ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ

  • ไข้สูง
  • กล้ามเนื้อปวดและบวม
  • หนาวสั่น
  • คัน (Itching)
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ไวต่อแสง (Sensitivity to light)
  • ตาแดงหรือเยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)

แหล่งข้อมูล:

  1. กิน “หมู-หนู-หมี” เสี่ยงรับพยาธิทริคิโนสิส อันตรายเข้าฝังตัวตามกล้ามเนื้อ. https://mgronline.com/qol/detail/9610000003697 [2018, January 25].
  2. Trichinosis.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trichinosis/symptoms-causes/syc-20378583 [2018, January 25].
  3. Trichinosis (Trichinellosis). https://www.medicinenet.com/trichinosis/article.htm [2018, January 25].