การให้ยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคอัมพาตที่โรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลของรัฐ เหมือนหรือแตกต่างกัน?

การให้ยาละลายลิ่มเลือด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตที่เป็นมาตรฐาน คือ การรักษาด้วยระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke fast track เป็นการรักษาที่เกือบทุกโรงพยาบาลของรัฐสามารถให้การรักษาด้วยระบบทางด่วนนี้ได้ โดยโรงพยาบาลจังหวัด 72 จังหวัดทั่วประเทศไทยและโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่อีกจำนวนมากที่สามารถให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ก็จะมีระบบบริการทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อการส่งต่อที่รวดเร็วไปยังโรงพยาบาลที่มีความสามารถสูงขึ้นที่ใกล้ที่สุด ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่พร้อมให้การบริการดังกล่าว แต่ต้องขอบอกว่าไม่ได้เป็นระบบแบบที่โรงพยาบาลของรัฐได้วางระบบไว้ เราลองมาดูในรายละเอียดว่า ข้อแตกต่างระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐกับเอกชนต่างกันอย่างไร

ประเด็นที่ 1 ความรวดเร็วของการให้บริการ

เนื่องด้วยระบบริการทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองนั้น การบริการต้องรวดเร็วที่สุด มาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ คือ ตั้งแต่ที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจะต้องได้รับการตรวจทุกอย่างให้ครบมีข้อมูลทั้ง การตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง จนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ยาละลายลิ่มเลือดได้หรือไม่ ระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกิน 60 นาที (door to needle) ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่ คือประมาณ 60-75% สามารถให้การบริการได้อย่างรวดเร็วตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนไม่มีการเก็บข้อมูลว่ามีระยะเวลาการบริการว่าเป็นเวลานานกี่นาที แต่ด้วยการประเมินแบบองค์รวมก็เชื่อว่าน่าจะสามารถให้การบริการได้รวดเร็วเช่นกัน ประเด็นตรงนี้เองที่ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่มั่นใจว่าโรงพยาบาลของรัฐจะสามารถให้การบริการที่รวดเร็วตามที่ผมบอกไว้ได้หรือไม่ ผมขอยืนยันว่าระบบได้มีการออกแบบ และมีการกำกับ ติดตาม ประเมินอย่างสม่ำเสมอ จึงอยากย้ำให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลของรัฐก็ให้การบริการที่รวดเร็วได้จริงๆ

ประเด็นที่ 2 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ที่เป็นผู้ให้บริการ

การให้บริการที่ได้กำหนดไว้ในปัจจุบัน คือ อายุรแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการให้บริการ ซึ่งในการบริการโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดจะให้บริการโดยอายุรแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมการให้ยาละลายลิ่มเลือดมาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการฝึกอบรมเป็นอายุรแพทย์หรือหลังจากการจบการฝึกอบรมมาแล้วก็ตาม นอกจากนี้ในทุกๆโรงพยาบาลจะมีระบบการปรึกษาจากประสาทแพทย์ กรณีที่อายุรแพทย์มีข้อสงสัยเกิดขึ้น และมีระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับสูงขึ้น กรณีที่มีปัญหาซับซ้อน

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ก็จะให้ยาละลายลิ่มเลือดโดยประสาทแพทย์หรือไม่ก็เป็นอายุรแพทย์ร่วมกับประสาทแพทย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา ตรงประเด็นนี้ ก็มีคนสงสัยอย่างมากว่าการให้ยาละลายลิ่มเลือดโดยอายุรแพทย์นั้นจะได้ผลเหมือนหรือแตกต่างกับประสาทแพทย์ ตรงนี้เองทางเครือข่ายการบริการโรคหลอดเลือดสมอง ภาคอีสานได้รวบรวมผลการรักษาโดยอายุรแพทย์และประสาทแพทย์ พบว่าผลการรักษาไม่มีความแตกต่างกัน

*จึงอยากให้ทุกคนมั่นใจในระบบการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ

ประเด็นที่ 3 การรักษาที่โรงพยาบาลแตกต่างกัน จะใช้มาตรฐานการรักษาเดียวกันหรือไม่

ประเด็นนี้น่าสนใจและน่าสงสัยมากสำหรับคนทั่วไป เพราะโรงพยาบาลมีหลายระดับ หลากหลายศักยภาพ แล้วจะให้การบริการที่เป็นมาตรฐานระดับเดียวกันได้อย่างไร ตรงประเด็นนี้ระบบได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือทุกๆที่ที่เปิดบริการการรักษาโรคนี้ ต้องให้การรักษาที่เป็นแบบเดียวกัน คือ ต้องตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองครบถ้วนเหมือนกัน แต่อาจต่างกันที่ระดับของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความแตกต่างกัน แต่ทุกที่ก็มีมาตรฐานระดับที่จำเป็นต้องผ่านการตรวจประเมินทั้งสิ้น ส่วนวิธีการปฏิบัติต้องทำแนวทางเดียวกันทุกสถานที่ เพียงแต่ต่างกันที่แพทย์ผู้ดูแล ซึ่งอาจมีประสบการณ์แตกต่างกันในแต่ระดับของโรงพยาบาล ซึ่งระบบก็มีแนวทางการให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์อยู่แล้ว กรณีที่แพทย์ที่ดูแลมีความไม่มั่นใจ

จึงอยากให้ทุกคนมีความมั่นใจและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่เกิดอาการผิดปกติให้เร็วที่สุดและไว้ใจระบบบริการ เพราะระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาเร็วที่สุดเท่าไหร่ ก็จะส่งผลดีต่อการหายมากขึ้นเท่านั้น ผลการรักษาไม่ได้ขึ้นกับแพทย์ผู้ให้การรักษาโดยตรง แต่ขึ้นกับเวลา จำไว้ว่า “ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอดปลอดอัมพาต”

ประเด็นที่ 4 ค่ารักษาพยาบาลต่างกันหรือไม่

ประเด็นนี้ชัดเจนที่สุดครับ คือในโรงพยาบาลของรัฐไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ทางโรงพยาบาลเอกชนก็ประมาณ 70,000 บาทถึง 100,000 หรือ 120,000 บาทครับ ทำไมเป็นแบบนั้น ก็เพราะรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยทั้งหมดที่รักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนเอกชนผู้ป่วยก็ต้องรับผิดชอบเองหรือไม่ก็เป็นบริษทประกันชีวิต กรณีที่มีประกันชีวิตและครอบคลุมโรคอัมพาต

“ย้ำว่าแค่คุณมีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ไม่ต้องกังวลใจว่าจะเป็นสิทธิ์การรักษาอะไร ฟรีเหมือนกันหมดในโรงพยาบาลของรัฐ”

ประเด็นที่ 5 ยาที่ใช้รักษาเหมือนหรือแตกต่างกัน

ประเด็นนี้ก็ตอบได้ง่ายมากว่า ยาละลายลิ่มเลือดเหมือนกันในทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย เป็นยาที่นำเข้ามาจากประเทศผู้ผลิตจากต่างประเทศทั้งหมดครับ การให้ยาแต่ละครั้งค่ายาอย่างเดียวคือ 25,000- 50,000 บาท ขึ้นกับน้ำหนักตัวผู้ป่วย แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ขึ้นกับการคิดราคายาละลายลิ่มเลือด ส่วนค่าตรวจเลือดและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองก็ประมาณ 10,000 บาทในโรงพยาบาลของรัฐ

ประเด็นที่ 6 สถานที่ให้การรักษาในโรงพยาบาลเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ประเด็นนี้ก็เป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศว่าโรงพยาบบาลรัฐจะให้การรักษาในส่วนไหนของโรงพยาบาล ผมบอกได้เลยว่าการรักษาผู้ป่วยที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดจะให้การรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke unit)โดยเฉพาะ คือ มีพยาบาล ทีมแพทย์ที่ให้การรักษาโดยเฉพาะในส่วนนี้ มีการให้คำแนะนำการรักษาต่อที่บ้าน มีทีมกายภาพบำบัดดูแลเป็นระบบ และในปีนี้ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมีการประเมินระบบบริการและหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน บางโรงพยาบาลติดแอร์ บางโรงพยาบาลไม่ติดแอร์ แต่ทุกที่มีการบริการที่เป็นไปตามมาตรฐานระดับนานาชาติ

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็จะรักษาในห้อง ไอ ซี ยู เป็นส่วนใหญ่และเมื่อพ้นช่วง 24 ชั่วโมงแรกแล้วก็ย้ายมายังห้องพิเศษ ให้การรักษาโดยประสาทแพทย์ร่วมกับอายุรแพทย์

*สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นระบบการบริการที่เกิดขึ้นจริงๆ และมีการตรวจเยี่ยมจากทีมประเมินเป็นประจำ เป็นประสบการณ์ที่ผมได้ลงเยี่ยมสำรวจในพื้นที่จริง มิใช่การอ่านจากการรายงานผลการดำเนินงานเท่านั้น หลายต่อหลายคนสงสัยว่า แล้วผลการรักษาจะดีจริงหรือเปล่าในโรงพยาบาลของรัฐ เบื้องต้นผมยืนยันว่าได้มาตรฐานแน่นอนครับ ไว้วันหลังผมจะเล่าเรื่องผลการรักษาให้ฟังอีกครั้งครับ

เมื่อท่านทราบแบบนี้แล้ว ท่านยังจะไม่กล้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐอีกหรือไม่?????