การเช็ดตัวลดไข้ (Tepid sponge)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: ไข้ และสาเหตุ

การมีไข้ (Fever, Pyrexia) บ่งชี้ถึงสภาวะของร่างกายที่ผลิตความร้อนออกมามากกว่าการระบายความร้อนออกจากร่างกายจึงทำให้เกิดการมีไข้ขึ้น อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ ระหว่าง 36 - 37 องศาเซลเซียส (Celsius) เกณฑ์การพิจารณาว่ามีไข้ คือเมื่ออุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศาเซลเซียส

สาเหตุของการมีไข้ มีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น เมื่อมีเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ร่าง กายจะมีกลไกการทำลายเชื้อจึงทำให้มีไข้ขึ้น, การอยู่ในที่มีอุณหภูมิสูงเช่น การอาบแดด การทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน, เป็นต้น จึงทำให้ร่างกายผลิตความร้อนออกมาได้สูงขึ้น

การมีไข้ ไม่ใช่สภาวะปกติของร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ร่างกายต้องการความช่วย เหลือให้ไข้ลดลง หากปล่อยให้มีไข้สูงอยู่นานโดยไม่ได้รับการแก้ไขให้ไข้ลดลง อาจเกิด อันตรายต่ออวัยวะสำคัญในร่างกายโดยเฉพาะที่สมอง และในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่ไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดอาการชักได้ ส่วนในผู้ใหญ่อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 39 องศาเซลเซียสก็จะส่ง ผลต่อการทำงานของระบบประสาทได้

ดังนั้น เมื่อมีไข้สูง การดูแลให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลงและกลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกายด้วยการค้นหาสาเหตุของการเกิดไข้ และหาวิธีการลดไข้ให้ได้เร็วที่สุด

นอกเหนือจากการใช้ยาลดไข้ หรือ ได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้ว วิธีการหนึ่งที่ปลอดภัยทำได้ง่ายและได้ผลดีคือ การเช็ดตัวลดไข้ (Tepid sponge) แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะเช็ดตัวลดไข้เมื่อใด มีสิ่งชี้บอกใดที่จะต้องเช็ดตัว ทำอย่างไรจึงจะเช็ดตัวลดไข้ได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ นั่นคือไข้ลดลงและรู้สึกสุขสบายขึ้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอวิธีเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้กับตนเองหรือคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ

รู้ได้อย่างไรว่ามีไข้?

การเช็ดตัวลดไข้

ตามปกติ เมื่อรู้สึกว่าตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกไม่สุขสบาย เราจะทราบได้ว่ามีไข้ โดยเมื่อใช้หลังมือคลำที่หน้าผาก จะสัมผัสได้ถึงความร้อนมากระทบมือ หรือคลำที่ลำคอ/รักแร้จะพบว่าอุ่นกว่าบริเวณลำตัว แขน ขา เนื่องจากบริเวณหน้าผาก ลำคอ และรักแร้ มีเส้นเลือด/หลอดเลือดจำนวนมากมาเลี้ยงในบริเวณดังกล่าวมากกว่าบริเวณผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกาย เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจึงสัมผัสได้ถึงผิวหนังที่ร้อนขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถคำนวณความร้อนออกมาเป็นตัวเลขได้จากการสัมผัส จึงต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการวัดอุณหภูมิร่างกายเรียกว่า ‘เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer)’ หรือ ’ปรอทวัดไข้’ สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายออกมาเป็นตัวเลขได้ ซึ่งค่าอุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ระหว่าง 36 - 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ถือว่าร่างกายมีระดับอุณหภูมิต่ำอาจมีอาการหนาวสั่น และอุณหภูมิร่างกายที่มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสถือว่ามีไข้

การมีไข้แบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้

  • ไข้ระดับต่ำ: อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.5 - 38.4 องศาเซลเซียส
  • ไข้ระดับปานกลาง: อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 38.5 - 39.4 องศาเซลเซียส
  • ไข้ระดับสูง: อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

นอกเหนือจากการวัดไข้ออกมาได้เป็นตัวเลขดังกล่าวแล้ว สิ่งบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นมีไข้แล้ว คือ อาจจะพบอาการ อ่อนเพลีย ปวดหัว เจ็บคอ ร้อนในปากและลำคอ เบื่ออาหาร ปัสสาวะอาจมีสีเหลืองเข้ม เมื่อปัสสาวะออกมาจะรู้สึกว่าปัสสาวะร้อนกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่สนับสนุนการมีไข้ และต้องการความช่วยเหลือให้ไข้ลดลง

การวัดไข้ด้วยปรอทวัดไข้:

  • ตำแหน่งที่ใช้วัดอุณหภูมิร่างกายที่นิยมใช้บ่อยและสะดวกได้ค่าที่ถูกต้องกับสภาพจริง คือ การอมปรอทวัดไข้ไว้ใต้ลิ้น
  • ก่อนวัดต้องสลัดปรอทให้อยู่ต่ำกว่าระดับ 35 องศาเซลเซียส
  • นำปรอทวางไว้ใต้ลิ้น หุบปากให้สนิท
  • อมปรอทวัดไข้นาน 1 - 2 นาที
  • แล้วนำปรอทออกจากปากมาดูระดับปรอทที่ขึ้นเป็นเส้นสีแดง
  • การดูปรอทวัดไข้ที่ถูกต้องต้องจับปรอทวัดไข้ให้เอียงทำมุม 45 องศา จะเห็นเส้นสีแดงที่บ่งบอกตัวเลขได้ชัดเจน
  • ควรรีบอ่านปรอทวัดไข้ทันทีที่นำปรอทออกจากปาก เพราะหากทิ้งไว้นานปรอทอาจจะลดลง หรือเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิของอากาศภายนอก
  • หลังจากนั้น
    • ควรทำความสะอาดปรอทวัดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติและน้ำสบู่
    • ล้างปรอทวัดไข้ด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
    • เช็ดปรอทฯด้วยผ้าที่แห้งสะอาด และ
    • เก็บปรอทวัดไข้ไว้ในกล่องที่เก็บ เพื่อความสะอาดและพร้อมใช้งานในครั้งต่อไป

เมื่อใดจึงจะเช็ดตัวลดไข้?

การเช็ดตัวลดไข้:

  • จะเริ่มเมื่อวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายและช่วยทำให้รู้สึกสุขสบาย
  • ความบ่อยในการเช็ดตัวลดไข้ควรห่างกันอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมง
  • เมื่อเช็ดตัวลดไข้ไปแล้วประมาณ 30 นาทีควรวัดไข้ซ้ำอีกครั้ง
  • หากไข้ลดลงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเช็ดตัวลดไข้อีก
  • ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อย 2 - 3 แก้วขณะที่เช็ดตัว น้ำจะช่วยขับความร้อนออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
  • นอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายลดการใช้พลังงาน
  • แต่ถ้าวัดอุณหภูมิหลังเช็ดตัวแล้วยังคงมีไข้สูงอยู่
    • ควรเช็ดตัวลดไข้อีกครั้งพร้อมกับรับประทานยาลดไข้ เช่นยา Paracetamol 500 มิลลิกรัม 1 เม็ดพร้อมดื่มน้ำ 1 แก้ว สามารถให้ยาลดไข้ Paracetamol ซ้ำได้ทุก 4 - 6 ชั่วโมง แต่ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับยา Parace tamol ลดไข้เกิน 8 เม็ด (4 กรัม) เพราะยานี้อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับได้
    • ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลจะดีกว่า เพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดไข้ได้ตรงจุด และได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที

วิธีเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกวิธีทำอย่างไร?

การเช็ดตัวลดไข้ให้ถูกวิธีนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ลดความร้อนจากร่างกาย

  • เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ในการเช็ดตัวลดไข้ คือ กะละมังใส่น้ำสะอาด อาจเป็นน้ำอุ่นได้หากรู้สึกหนาว สามารถใช้น้ำธรรมดาที่มีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง
  • ใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็ก 3 - 4 ผืน ชุบน้ำให้พอชุ่มๆแต่ไม่เปียกมากนัก หากผ้าหมาดเกินไปก็จะมีน้ำไม่เพียงพอที่จะช่วยพาความร้อนออกจากผิวหนัง
  • เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้าก่อน หลังจากนั้นให้วางผ้าอีกผืนบริเวณหน้าผาก เพราะบริเวณนี้จะมีหลอดเลือด/เส้นเลือดมาเลี้ยงมาก จะช่วยให้คายความร้อนออกได้ดี เมื่อมีผ้าชุบน้ำมาวางไว้สัก 3 - 5 นาทีหรือจนคลำได้ว่าผ้าเริ่มอุ่นขึ้น หมั่นเปลี่ยนผ้าชุบน้ำมาวางบ่อยๆ
  • หลังจากนั้น จึงเช็ดลงมาตามลำดับ จากใบหน้าลงมาถึงลำคอ
  • เช่นเดียวกัน ให้วางผ้าอีกหนึ่งผืน บริเวณลำคอ บริเวณรักแร้ เพราะทั้งสองแห่งมีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก จึงต้องการระบายความร้อนเพิ่มขึ้น ใช้หลักการเดียวกันกับบริเวณหน้าผาก
  • หมุนเวียนเปลี่ยนผ้าชุบน้ำบริเวณหน้าผาก ลำคอ รักแร้ทั้งสองข้างบ่อยๆทุก 3 - 5 นาที
  • เช็ดเรื่อยลงมาตามลำตัว ส่วนแขนทั้งสองข้างมีหลักการในการเช็ดตัวลดไข้ที่ได้ผลดีคือ การเช็ดจากบริเวณปลายนิ้วมือ มือ ข้อมือเรื่อยขึ้นมา ถึงแขน อาจเรียกได้ว่า เช็ดแบบเปิดรูขุมขน จะช่วยให้รูขุมขนเปิด ช่วยระบายความร้อนออกมาพร้อมกันนี้ผ้าชุบน้ำที่เปียกๆจะส่งเสริมให้มีการพาความร้อนออกมาได้ดีขึ้น
  • ควรเปลี่ยนน้ำที่เช็ดตัว เมื่อเห็นว่าน้ำไม่สะอาดหรือขุ่น เพื่อช่วยรักษาความสะอาดของร่างกายไปพร้อมกับลดไข้ไปทีเดียว
  • ในขณะที่เช็ดตัวลดไข้แต่ละส่วนตั้งแต่ใบหน้า ลำตัว และแขนทั้งสอง ควรใช้ผ้าแห้งซับน้ำออกจากอวัยวะแต่ละส่วน เพื่อให้รู้สึกสุขสบาย
  • ใช้ผ้าบางๆคลุมตัว ไม่ควรเปิดร่างกายให้สัมผัสอากาศภายนอกเพราะอาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้น การเช็ดตัวลดไข้อาจไม่ได้ผล
  • ส่วนการเช็ดบริเวณช่วงขาที่เป็นท่อนล่างของร่างกาย บริเวณขาหนีบทั้งสอง และข้อพับใต้ข้อเข่าทั้งสอง ก็เป็นอีกสองตำแหน่งที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากเช่นกัน
    • ใช้ผ้าชุบน้ำมาวางพักเป็นระยะๆทุก 3 - 5 นาที
    • หมุนเวียนเปลี่ยนผ้ามาวางเป็นพักๆเช่นกัน
    • การเช็ดส่วนขาทั้งสองข้างก็ให้เช็ดจากปลายเท้าขึ้นมาถึงข้อเข่า เช็ดย้อนขึ้นมาให้เปิดรูขุมขน และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดกลับสู่หัวใจ พร้อมระบายความร้อนออกไปอีกทางหนึ่งด้วย
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้รวมทั้งหมดประมาณ 15 - 20 นาที
    • แต่ถ้าขณะที่เช็ดตัวให้แล้วคนที่มีไข้รู้สึกหนาวควรหยุดเช็ดตัว
    • ใช้ผ้าซับน้ำบริเวณที่เช็ดตัวให้แห้ง
    • สวมใส่เสื้อผ้าและห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น เพราะหากเช็ดตัวในขณะที่มีอาการหนาวสั่นแล้วจะทำให้กลับมีไข้สูงขึ้นได้ และ
  • ควรให้ผู้ป่วยนอนพักหลังจากเช็ดตัวเสร็จแล้ว

อนึ่ง การเช็ดตัวลดไข้สามารถเช็ดด้วยตนเองถ้าสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ถ้ามีญาติหรือเพื่อนช่วยเช็ดตัวให้ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะขณะมีไข้ ร่างกายมีการเผาผลาญใช้พลังงานสูงขึ้น หากได้นอนพักและมีผู้อื่นช่วยเหลือในการเช็ดตัวให้ก็จะทำให้ผู้ที่มีไข้ได้มีโอกาสพัก เพราะขณะที่มีไข้ มักพบอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง และไม่สุขสบายหากต้องเช็ดตัวด้วยตนเอง

มีข้อห้ามการเช็ดตัวลดไข้อย่างไร?

ข้อห้ามสำหรับการเช็ดตัวลดไข้ได้แก่

1. ไม่ควรใช้น้ำเย็นมาเช็ดตัวลดไข้ เพราะความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว การระบายความร้อนออกทางผิวหนังจึงเป็นไปได้น้อย, และการใช้น้ำเย็นจะส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกหนาวสั่นจะส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

2. ไม่ควรเปิดพัดลมหรือเปิดเครื่องปรับอากาศในขณะที่เช็ดตัวลดไข้ เพราะความเย็นจากอุปกรณ์ทำความเย็นดังกล่าวร่วมกับผ้าที่ชุบน้ำขณะเช็ดตัว จะเย็นมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นได้ง่าย ทำให้การเช็ดตัวลดไข้ไม่ได้ผลดี

3. ไม่ควรใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณใบหน้า ลำตัว แขน หรือขา เพราะแป้งฝุ่นจะไปอุดรูขุมขนทำให้การระบายความร้อนออกได้น้อย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่นหลังเช็ดตัวลดไข้

รู้ได้อย่างไรว่าไข้ลดลงแล้ว?

หลังจากที่ได้เช็ดตัวลดไข้ไปแล้ว จะทราบได้อย่างไรว่าไข้ลดลงแล้วหรือไม่ จำเป็นอย่าง ยิ่งที่จะต้องมีปรอทวัดไข้มาวัดอุณหภูมิอีกครั้งเพื่อประเมินผลการเช็ดตัวลดไข้ว่าไข้ลดลงหรือไม่

หลังจากเสร็จจากการเช็ดตัวลดไข้ไปแล้วประมาณ 30 นาที เพราะหากไข้ลดลงแล้วไม่จำเป็นต้องเช็ดตัวลดไข้อีก แต่ถ้าหากยังคงมีไข้สูงอยู่ควรเช็ดตัวลดไข้ซ้ำอีกครั้ง และประเมินผลอีกครั้ง หากไข้ยังสูงอยู่อาจต้องใช้ยาลดไข้

ทั้งนี้ การมีไข้สูงอยู่นานเกิน 1 - 2 วัน, เช็ดตัวลดไข้และรับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ไม่ลดลง, เป็นสัญญาณที่บ่งว่า ร่างกายน่าจะมีการอักเสบหรือการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิต

สรุป

การเช็ดตัวลดไข้เป็นวิธีการทำให้ไข้ลดลง ประหยัด ปลอดภัย และสะดวก สามารถทำได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เพียงแต่ต้องทราบว่า

  • จะเช็ดตัวลดไข้เมื่อมีไข้ในระดับใด
  • รวมทั้งวิธี การเช็ดตัวที่ถูกวิธีเป็นอย่างไร
  • โดยมีหลักการการเช็ดย้อนรูขุมขน
  • วางผ้าในตำแหน่งที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากเช่น หน้าผาก ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับใต้เข่า
  • ใช้เวลาที่พอเหมาะในการเช็ดตัว
  • ซึ่งจะเป็นการดูแลตนเองหรือญาติช่วยในการดูแลบุคคลที่คุณรักในเบื้องต้น
  • หากเช็ดตัวลดไข้ได้อย่างถูกวิธี จะช่วยให้ไข้ลดลง ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย พร้อมทั้งได้รับความรักและความห่วงใยในขณะที่ได้รับการเช็ดตัวให้ เสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว
  • แต่ถ้าหากเช็ดตัวลดไข้ไปแล้วและประเมินด้วยการวัดปรอทซ้ำแล้วไข้ยังไม่ลดลงหรือกลับมีไข้สูง การไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลจะช่วยให้รักษาไข้ได้ถูกวิธีและปลอดภัยอีกทางหนึ่ง

บรรณานุกรม

  1. มนสภรณ์ วิทูรเมธา น้ำอ้อย ภักดีวงศ์ และมนพร ชาติชำนิ (บรรณาธิการ) .(2552). การพยาบาลพื้นฐาน. ปทุมธานี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต.
  2. สิริรัตน์ ฉัครชัยสุชา ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน์ และณัฐสุรางค์ บุญจันทร์. (บรรณาธิการ). (2550) ทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล. กรุงเทพฯ:เอ็น.พี. เพรส.
  3. Perry,A.G , Potter,P.A. & Ostendorf.W.R. (2014). Clinical Nursing Skills &Techniques. 8th edition.St.Louis: Elsevier Mosby.
  4. Roth,L.S.(2014). Mosby’s 2014 Nursing Drug Reference.26th edition. St.Louis: Elsevier Mosby