การวินิจฉัยโรค (Medical diagnosis) การวินิจฉัยทางคลินิก (Clinical diagnosis) การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory diagnosis) การวินิจฉัยทางรังสีวิทยา (Radiological diagnosis) การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา (Pathological diagnosis) การวินิจฉัยสุดท้าย (Final diagnosis) การวินิจฉัยด้วยการรักษา (Therapeutic diagnosis)

“การวินิจฉัยโรค” (Medical diagnosis) หรือ “การตรวจวินิจฉัยโรค” โดยทั่วไป แพทย์เรียกย่อว่า Diagnosis เป็นกระบวนการซึ่งเป็นขั้นตอนในการตรวจโรคของแพทย์ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุการเกิดโรค อาการ หรือ ภาวะผิดปกติต่างๆ เพื่อการรักษา ติดตามผล การรักษาที่รวมทั้งผลข้างเคียงจากวิธีรักษา และเพื่อการประเมินสุขภาพผู้ป่วย หลักการวินิจฉัยโรค มี 2 วิธีคือ

  • “การวินิจฉัยทางคลินิก หรือ การตรวจวินิจฉัยโรคทางคลินิก (Clinical diagnosis)” เป็นการวินิจฉัยโรคที่ได้จากการสอบถามอาการผู้ป่วย สอบถามประวัติทางการ แพทย์ต่างๆของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งจะช่วยการวินิจฉัยโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรง ไม่ซับ ซ้อน ที่พบได้บ่อยๆ ได้สูงถึงประมาณ 80-90% ของผู้ป่วย (เช่น โรคหวัด ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ)
  • การสืบค้น (Medical investigation) อีกประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยที่โรครุนแรง หรือเป็นโรคซับซ้อน หรือเป็นโรคพบได้น้อย ไม่ค่อยพบ โรคกลุ่มนี้แพทย์ต้องมีการตรวจต่างๆเพิ่มเติมจากการวินิจฉัยทางคลินิก ที่เรียกว่า “การสืบค้น (Investigation)” โดยการตรวจเพิ่มเติม/การสืบค้นเหล่านี้มีข้อบ่งชี้ที่ได้จาก อาการผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ผลการตรวจร่างกาย และจากดุลพินิจของแพทย์

    การสืบค้นที่ใช้บ่อย คือ

    • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือ การตรวจที่ได้จากขั้นตอนทางวิทยา ศาสตร์ที่ให้การตรวจในห้องตรวจที่เรียกว่าห้องปฏิบัติการ หรือ เรียกย่อว่า ห้องแลบ (Lab/ Laboratoty) เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจน้ำไขสันหลังจากการเจาะน้ำไขสันหลัง การตรวจเชื้อ การตรวจเพาะเชื้อ ซึ่งเรียกการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีนี้ว่า “การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory diagnosis)”
      • ซึ่งถ้าเป็นการตรวจจากสารเคมี เรียกย่อยได้ว่า “การวินิจฉัยทางชีวเคมี (Biochemical diagnosis)”
      • และถ้าเป็นการตรวจทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เรียกย่อยได้ว่า “การวินิจฉัยทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunology diagnosis)”
    • การตรวจภาพภาวะอวัยวะที่ผิดปกติทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ ซึ่งเรียกการวินิจฉัยโรคที่ได้จากทางรังสีวิทยาว่า “การวินิจฉัยโรคทางรังสีวิทยา หรือ การวินิจฉัยทางรังสีวิทยา (Radiological diagnosis)” และ
    • การตัดชิ้นเนื้อ การตรวจเซลล์จากรอยโรค และ/หรือ การตรวจศพ (Autopsy) ซึ่งเรียกการวินิจฉัยโรคที่ได้จากการตรวจวิธีนี้ว่า “การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา (Pathological diagnosis)”
      • โดยถ้าเป็นการวินิจฉัยจากการตัดชิ้นเนื้อ เรียกย่อยลงไปอีกว่า “ การวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อ (Histologic diagnosis)”
      • แต่ถ้าเป็นการวินิจฉัยจากเซลล์ เรียกย่อยได้ว่า “การวินิจฉัยด้วยเซลล์ (Cytologic diagnosis)”

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลตรวจรวมทั้งหมดจาก อาการ อาการแสดง การตรวจร่างกาย และ/หรือ การสืบค้น จนแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคอะไร หรือ ความผิดปกตินั้นๆมีสาเหตุจากอะไร จะเรียกว่า “การวินิจฉัยสุดท้าย หรือ Definitive diagnosis หรือ Final diagnosis”

นอกจากนั้น บางครั้งแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุโรคที่แน่ชัดได้ แต่ได้การวินิจฉัยจาก การวินิจฉัยแยกโรค แพทย์อาจให้การรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ว่า น่าเกิดจากโรค/สาเหตุอะไรมากที่สุด ซึ่งเมื่อให้การรักษาตามนั้นแล้ว ผู้ป่วยหายได้ เรียกการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการนี้ว่า “การวินิจฉัยด้วยการรักษา (Therapeutic diagnosis)” เช่น ในโรคมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองของสมอง ที่บ่อยครั้งไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคมาตรวจได้ แต่ถ้าการวินิจฉัยทางคลินิก บ่งชี้ว่า น่าจะเป็นโรคนี้มากที่สุด แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์กับผู้ป่วย เพื่อเป็นทั้งการวินิจ ฉัยโรค (การวินิจฉัยด้วยการรักษา) และการรักษา ซึ่งถ้าโรคเกิดจากสาเหตุนี้จริง อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นมากร่วมกับรอยโรคในสมองจะยุบลง หรือหายไปได้ เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Medical diagnosis https://en.wikipedia.org/wiki/Medical_diagnosis [2013,Aug12].