การวางแผนครอบครัว (Family planning)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การวางแผนครอบครัวคืออะไร?

การวางแผนครอบครัว (Family planning) คือการที่คู่สามีและภรรยามีการร่วมปรึกษาหารือกันวางแผนเกี่ยวกับความถี่หรือห่างของการมีบุตรของครอบครัวโดยอาจใช้วิธีทางธรรมชาติหรือมีการใช้ยาหรืออุปกรณ์ต่างๆเพื่อช่วยให้การวางแผนนั้นๆสำเร็จมากขึ้น

ความสำคัญของการวางแผนครอบครัว?

การวางแผนครอบครัว

ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมามีการประกาศว่าขณะนี้ประชากรบนโลกมีจำนวน ครบ 7,000 ล้านคนแล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วคือเพิ่มถึง 1,000 ล้านคนใน เวลาเพียง 12 ปีจากจำนวนประชากร 6,000 ล้านคนในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) นับวันประชากรโลกมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติก็ลดลงอย่างรวดเร็ว หากไม่มีควบคุมการเกิดหรือการวางแผนครอบครัว ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยสี่ต้องตามมาอย่างแน่นอน ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน (ข้อมูล 2554) มีอัตราการเกิด (Crude birth rate) เป็น 12.9 ต่อ 1,000 คน อย่างไรก็ตามยังถือว่าอัตราการเกิดของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีทั้งนี้เป็นผลจากการที่ทั้งหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้ช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวกับประชาชนอย่างดีเสมอมา

การวางแผนครอบครัวที่เหมาะสม การมีจำนวนบุตรที่เหมาะสมจะทำให้ครอบครัวมีคุณภาพมากที่สุด บุตร-ธิดาจะได้รับการลี้ยงดูอย่างดีได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ การเลี้ยงดูบุตร 1 คนตั้งแต่เล็กจนสามารถเลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ค่าใช้จ่ายด้านปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ซึ่งนับวันจะเพิ่มสูงมากขึ้นทุกที การมีบุตรจำนวนมากหรือไม่มีการวางแผนที่ดีจะมีผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารกอย่างมากด้วย

วิธีการวางแผนครอบครัวมีกี่วิธี? อะไรบ้าง?

การวางแผนครอบครัวแบ่งเป็นแบบถาวรและแบบชั่วคราว

1. การวางแผนครอบครัวแบบถาวร ได้แก่:

1. การทำหมันหญิง เป็นการผูกและตัดท่อรังไข่ (Fallopian tubes) ทั้งสองข้าง

2. การทำหมันชาย เป็นการผูกและตัดท่อนำน้ำเชื้อ (Vas deferen) ทั้งสองข้าง

2. การวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว แบ่งเป็นวิธีธรรมชาติและแบบใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์

ก. แบบวิธีธรรมชาติ/การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติไม่ต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์เช่น

  • การหลั่งข้างนอกคือ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ก่อนถึงจุดสุดยอดที่ฝ่ายชายจะหลั่งน้ำอสุจิออกมา ให้ถอนอวัยวะเพศฝ่ายชายออกจากช่องคลอด วิธีนี้ทำได้ง่ายแต่มีความล้มเหลว (มีโอกาสตั้งครรภ์) สูงเพราะบางครั้งอาจมีตัวเชื้ออสุจิหลุดลอดเข้าไปในช่องคลอดแล้วก่อนหลั่งน้ำอสุจิจริง
  • การนับวันปลอดภัย เหมาะสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ สามารถคาดการณ์ระยะเวลาที่จะเป็นประจำเดือนครั้งต่อไปได้อย่างแม่นยำจึงจะใช้วิธีนี้ได้ดี การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเจ็ดวันแรกของการมีประจำเดือนและในช่วงเจ็ดวันก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป จะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าช่วงระยะเวลาอื่นๆ

ข. แบบใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์ มีหลายวิธีได้แก่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pills) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
    • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม (Oral combined contraceptive pills) มีส่วนผสมของฮอร์โมนสัง เคราะห์ 2 ชนิดคือ ฮอร์โมนสังเคราะห์ฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน/Estrogen (Ethinyl estradiol) ซึ่งยาส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะเป็นส่วนประกอบนี้กับฮอร์โมนสังเคราะห์ฤทธิ์คล้ายโปรเจสเตโรน/Progesterone (Progestin) ที่มีตัวยามากมายหลายชนิด

    หากแบ่งชนิดยาตามปริมาณส่วนผสมของ Ethinyl estradiol แบ่งได้เป็นอีก 3 ชนิดคือ

    • “High dose estrogen” จะมีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol 0.05 มิลลิกรัม ส่วนชนิดและ ปริมาณของโปรเจสตินจะแตกต่างกันไปเช่น Oval ® ปัจจุบันไม่ค่อยใช้เนื่องจากมีอาการข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียนมาก
    • “Low dose estrogen” จะมีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol 0.03 มิลลิกรัม ส่วนชนิดและปริมาณของโปรเจสตินจะแตกต่างกันไป ยาที่มีขายในท้องตลาดส่วนมากจะเป็นชนิดนี้เช่น Marvelon®, Microgynon®, Anna® เป็นต้น และ
    • “Very low dose estrogen” จะมีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม ส่วนชนิด และปริมาณของโปรเจสตินจะแตกต่างกันไป ที่ลดปริมาณเอสโตรเจนเพื่อลดอาการข้างเคียงของยาเช่น Meliane®, Mercilon®

    หากแบ่งตามจำนวนเม็ดแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ แบบ 28 เม็ดต่อแผง จะมีตัวยาจริง 21 เม็ด และเป็นยาหลอก 7 เม็ด, แบบ 28 เม็ดต่อแผงจะมีตัวยาจริง 24 เม็ดและเป็นยาหลอก 4 เม็ด, แบบ 21 เม็ดต่อแผงจะมีเฉพาะตัวยาจริง 21 เม็ด

    ปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดมีการพัฒนาไปอย่างมาก มีการใช้โปรเจสตินที่มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันออกไปมาใช้เป็นส่วนประกอบ ทำให้นอกจากจะสามารถเป็นยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังมีประโยชน์อย่างอื่นด้วยเช่น ลดการเป็นสิว ลดผิวหน้ามัน ลดการคั่งของน้ำและเกลือแร่ทำให้ไม่อ้วนอย่างนี้เป็นต้น แต่ก็ทำให้ราคายาแพงขึ้นด้วย

    วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

    1. รับประทานเม็ดแรกของแผงภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนไม่ว่าประจำเดือนจะหยุดหรือไม่หยุดก็ให้เริ่มรับประทาน

    2. ควรรับประทานยาเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อให้ระดับฮอร์โมนคงที่

    3. ควรรับประทานยาก่อนนอนจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน

    4. หากรับประทานยาแบบ 28 เม็ดต่อแผง ให้รับประทานยาทุกวันจนหมดแผงและต่อด้วยแผงใหม่เลยไม่ต้องกังวลเรื่องประจำเดือน ซึ่งส่วนมากประจำเดือนจะมาช่วงปลายๆแผงยา

    5. หากรับประทานยาแบบ 21 เม็ดต่อแผง ให้รับประทานยาทุกวันจนหมดแผงและเว้นช่วงไป 7 วันจึงเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ไม่ว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่

    6. หากลืมรับประทานยา 1 เม็ดให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ 1 เม็ด และรับประทานยาอีก 1 เม็ดตามปกติ

    7. หากลืมรับประทานยา 2 เม็ดให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ 1 เม็ด ตอนก่อนนอนรับประทานยาอีก 1 เม็ด วันรุ่งเช้าถัดมารับประทานยาอีก 1 เม็ด และรับประทานยาอีก 1 เม็ดตามปกติ

    8. หากลืมรับประทาน 3 เม็ดให้หยุดยาแผงนั้นแล้วใช้ถุงยางอนามัยไปก่อน รอจนกระทั่งมีประจำเดือนมาจึงเริ่มยาแผงใหม่ตามปกติ

    • ยาเม็ดคุมกำเนิดโปรเจสติน (Progestin-only contraceptive pills) เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว เหมาะที่จะใช้ในสตรีที่มีข้อห้ามในการใช้เอสโตรเจน เช่น สตรีหลังคลอดที่ให้นมบุตร สตรีที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าปกติ

      การรับประทานยากลุ่มนี้จะต้องรับประทานทุกวันติดต่อกันไม่มีการหยุดรับประทาน ประจำเดือน จะไม่มาเป็นรอบๆเหมือนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม แต่จะเป็นแบบมากระปริดกระปรอย

    • ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน/ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraceptive pills) มีส่วนประกอบ ของโปรเจสตินในขนาดที่สูงเช่น Postinor® หรือ Madonna® (Levonorgestrel 0.75 มก.) รับ ประทานเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์และรับประทานเม็ดที่ 2 ในอีก 12 ชั่วโมงถัดมา ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดประมาณ 75%
  • ยาฉีดคุมกำเนิดแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
    • ยาฉีด Depot medroxy progesterone acetate หรือ DMPA ประกอบด้วยโปรเจสตินอย่างเดียว ขนาดยา 150 มก. ใช้ฉีดเข้ากล้ามทุก 3 เดือน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดีมากแต่มักจะทำให้ไม่มีประจำเดือน
    • ยาฉีด Norethisterone acetate ประกอบด้วยโปรเจสตินอย่างเดียว ใช้ฉีดเข้ากล้ามทุก 2 เดือน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดีมากแต่มักจะทำให้ไม่มีประจำเดือน
    • ยาฉีดฮอร์โมนรวมประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสติน (Estradiol valerate + Norethiste rone acetate) ใช้ฉีดเข้ากล้ามทุก 1 เดือน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดีมาก มีประจำเดือนมาตามปกติ
  • ยาฝังคุมกำเนิด ประกอบด้วยโปรเจสตินอย่างเดียว บรรจุอยู่ในหลอดเล็กๆที่ค่อยๆปล่อยยาออก มาเช่น Implanon® เป็นยาฝังไว้ใต้ท้องแขนชนิดแท่งเดียว มีส่วนประกอบของยา Etonoges trel ใช้คุมกำเนิดได้ 3 ปี ออกฤทธิ์เหมือนยาฉีดคุมกำเนิด หรืออีกชนิดหนึ่งที่มีในท้องตลาดคือ Jadelle® เป็นยาฝังไว้ใต้ท้องแขนชนิด 2 แท่ง มีส่วนประกอบของ levonorgestrel ใช้คุมกำเนิดได้ 5 ปี
  • ห่วงอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device หรือย่อว่า ไอยูดี/IUD) ที่นิยม ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม
    • ห่วงอนามัยที่มีสารทองแดงประกอบ (Copper IUD) เช่น Multiload 250A จะมีพื้นที่ผิวทอง แดง 250 ตารางมิลลิเมตร, Multiload 375A, Copper T 380A ห่วงอนามัยเหล่านี้จะไปทำให้ สภาพในโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว
    • ห่วงอนามัยที่เคลือบฮอร์โมนสังเคราะห์โปรเจสติน (Levonorgestrel - contained IUD)/ห่วง อนามัยชนิดมีฮอร์โมน ที่มีขายในประเทศไทยมีชื่อการค้าคือ Mirena® โดยที่จะเคลือบฮอร์โมนที่แกนของห่วงอนามัยแทนการพันด้วยทองแดงตามที่กล่าวมา นอกจากช่วยป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนแล้ว ฮอร์โมนจะมีผลเสริมการทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้จะมีประจำเดือนลดลงอย่างมากจึงเหมาะที่จะใช้ในสตรีที่มีประจำเดือนมากอยู่แล้ว
  • ถุงยางอนามัย แบ่งเป็น
    • ถุงยางอนามัยสำหรับบุรุษ/ถุงยางอนามัยชาย นอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้วสามารถช่วยป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
    • ถุงยางอนามัยสตรี นอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้วสามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วย
  • วงแหวนคุมกำเนิด เป็นนวัตกรรมใหม่ของการคุมกำเนิดที่มีการดัดแปลงจากการรับประทานหรือ ฉีดยามาเป็นการเหน็บยาไว้ในช่องคลอดเฉพาะที่เพื่อลดอาการผลข้างเคียงคลื่นไส้อาเจียน ไม่ต้องรับประทานยาทุกวันเช่น NuvaRing® ประกอบด้วย Estrinyl estradiol และ Etonogestrel ยาจะถูกบรรจุในวงแหวนพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว มีลักษณะนิ่ม สามารถใส่ได้ด้วยตนเอง ใส่ได้นานครั้งละ 3 สัปดาห์แล้วเอาออก 1 สัปดาห์เป็นช่วงรอให้มีประจำเดือน ต่อไปจึงใส่วงแหวนใหม่ในรอบถัดไป
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด/ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง เป็นนวัตกรรมใหม่ของการคุมกำเนิด เช่นกันเช่น Evra patch ® ประกอบด้วย Estrinyl estradiol และ Norelgestromin มีขนาด 2 x 2 นิ้ว ใช้แปะติดบริเวณผิวหนังที่แห้ง ใช้ 1 แผ่นต่อสัปดาห์ ใช้ 3 สัปดาห์หยุด 1 สัปดาห์ รอให้มีประจำเดือนเหมือนการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
  • การใช้ยาหรือสารทำลายตัวอสุจิ/การคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ มีขายหลายรูปแบบทั้งแบบ เป็นเม็ดที่ใช้ใส่เข้าไปในช่องคลอด ครีม หรือเจล โดยที่ต้องใช้สารเหล่านี้เข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุดก่อนการร่วมเพศ

ข้อเด่นและข้อด้อยของการวางแผนครอบครัวแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง?

ข้อเด่นและข้อด้อยของการวางแผนครอบครัวแต่ละชนิดที่สำคัญคือ

โอกาสตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆเป็นอย่างไร?

การคุมกำเนิดด้วยวิธีตางๆมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ดังนี้

ใครควรมีบทบาทในการวางแผนครอบครัว?

ในการวางแผนครอบครัวส่วนมากที่พบในปัจจุบันมักเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายหญิงที่ต้อง ขวนขวายหาวิธีคุมกำเนิดสำหรับตนเองเพื่อไม่ให้มีลูกถี่มากเกินไป จริงๆแล้วบุคคลหลายระดับควรต้องมีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้นดังนี้

  • ระดับครอบครัว ทั้งสามีและภรรยาต้องรับผิดชอบร่วมกันไม่ควรปล่อยเป็นภาระของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ควรมีการปรึกษาหารือกันถึงการวางแผนระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะมีบุตร การเว้นระยะช่วงห่างของการมีบุตร การเลือกวิธีคุมกำเนิดตามความเหมาะสมซึ่งมีหลายวิธีมากตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และพิจารณาข้อดีข้อด้อยของแต่ละวิธีอย่างละเอียดถี่ถ้วน การคุมกำเนิดในเพศชายทำได้ง่ายกว่า และเจ็บตัวน้อยกว่าในฝ่ายหญิงมาก
  • ระดับชุมชนท้องถิ่น บุคลากรด้านสาธารณสุข เภสัชกร ต้องมีการให้คำปรึกษาหรือแนะนำเกี่ยว กับการวางแผนครอบครัวในวิธีต่างๆอย่างถูกต้อง มีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างถูกต้อง มีร้านขายยาในชุมชนที่สามารถให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดต่างๆอย่างเพียงพอ มีสถานพยาบาลที่ให้บริการยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด
  • ระดับชุมชนภายนอก สื่อสารมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ Social network เป็นอีกฝ่ายที่ควรมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม การเผยแพร่ข่าวสารเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุมกำเนิด ลดความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการคุมกำเนิด จะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและยอมรับการคุมกำเนิดมากขึ้น
  • ระดับประเทศ ควรมีนโยบายชัดเจนจากผู้บริหารประเทศโดยเฉพาะในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมกันวางเป้าหมายเกี่ยวกับอัตราการเกิดของประชากรที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัด วางแผนนโยบายด้านสาธารณสุข การวางแผนครอบครัว และควรจัดกิจกรรมส่งเสริมรณรงค์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องและบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

จะเข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัวได้อย่างไร?

การเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวอาจโดย

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัยชาย สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหรือตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ
  • ยาฉีดคุมกำเนิด สามารถรับบริการได้ที่สถานรักษาพยาบาล สถานีอนามัยในท้องถิ่น โรงพยาบาล หรือคลินิกทั่วไป
  • ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การทำหมัน สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่

ควรเริ่มมีการวางแผนครอบครัวเมื่อใด?

การวางแผนครอบครัวควรเริ่มตั้งแต่ชายและหญิงตกลงจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน วางแผนจะแต่งงานกัน หรือก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ชายและหญิงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหลังแต่งงาน/การมีเพศสัมพันธ์เลยหรือไม่ หรือจะเว้นระยะการมีบุตรออกไปก่อน จะเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบไหนดี รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฉีดยาคุมกำเนิด เพราะระยะเวลาในการเริ่มการคุมกำเนิดมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพของยาเช่น จะแต่งงานอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าซึ่งตรงกับช่วงตกไข่พอดี หากมีเพศสัมพันธ์ช่วงนั้นจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงสุด จึงอาจต้องรับประทานยาก่อนหน้าที่จะถึงวันแต่งงานอย่างนี้ เป็นต้น

ควรต้องปรึกษาใครในการวางแผนครอบครัว?

การวางแผนครอบครัวสามารถปรึกษาคนใกล้ตัวที่มีประสบการณ์ในการวางแผนครอบครัว เช่น แม่หรือพี่สาว น้องสาว เพื่อน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีความรู้มากมายที่สามารถค้นคว้าได้ทั้งจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนั้นแพทย์เภสัชกรเป็นบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้อย่างถ่องแท้ สามารถไปปรึกษาได้โดยเฉพาะสูตินรีแพทย์

ซื้อยากินเองได้หรือไม่?

ปัจจุบันมียาเม็ดคุมกำเนิดขายตามร้านขายยาในท้องตลาดทั่วไปหลากหลายประเภทและหลากหลายยี่ห้อ มีทั้งชนิดฮอร์โมนรวม ฮอร์โมนเดี่ยว ยาคุมฉุกเฉิน ยาฮอร์โมนต่ำ ฮอร์โมนสูง จำนวน 21 เม็ด จำนวน 28 เม็ด หากเราไม่มีความรู้แน่ชัดควรเลือกซื้อยาจากร้านที่มีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษาจะปลอดภัยกว่าที่จะซื้อยารับประทานเองหรือควรปรึกษาแพทย์

นอกจากนั้นหลังจากรับประทานยาแผงแรกต้องสังเกตอาการ หากไม่มีปัญหากล่าวคือไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆเช่น คลื่นไส้ อาเจียน จึงซื้อรับประทานเองต่อได้ แต่ถ้าพบมีปัญหาควรกลับไปปรึกษาแพทย์เภสัชกรหรือสูตินรีแพทย์

กรณีใดจึงควรต้องปรึกษาแพทย์ในการวางแผนครอบครัว?

หากเรามีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปวดศีรษะ ไมเกรน ควรต้องปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ในการวางแผนครอบครัวเสมอ เพราะการคุมกำเนิดเเต่ละวิธีเหมาะสมในแต่ละกลุ่มโรคไม่เหมือนกัน

หรือหากต้องการเลือกวิธีฉีดยาคุมกำเนิด ฝังยาคุมกำเนิด ใส่ห่วงอนามัยซึ่งเป็นหัตถการที่ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น จึงต้องไปพบแพทย์ได้ทั้งที่คลินิก โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐบาลที่มีการให้บริการด้านวางแผนครอบครัว

ควรเตรียมตัวในการพบแพทย์อย่างไร? ใครควรไปพบแพทย์บ้าง?

การเตรียมตัวเมื่อไปพบแพทย์เพื่อรับการคุมกำเนิด ควรไปช่วงที่กำลังมีประจำเดือนหรือ ประจำหยุดใหม่ๆเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์ หากจะเริ่มการคุมกำเนิดก็จะได้เริ่มเลยเช่น ใส่ห่วงอนามัย ฉีดยาคุมกำเนิด หากเป็นไปได้สามีควรไปเป็นกำลังใจให้ภรรยาเพราะจะได้รับฟังคำแนะ นำและการปฎิบัติตัวของทั้งสองฝ่ายไปพร้อมๆกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสูงสุด

บรรณานุกรม

  1. Speroff L, Darney PD. A clinical guide for contraception. 5th ed. Philadelphia:Lippincott Williams& Wilkins. 2011.
  2. World Health Organization. Family planning: A global handbook for provider. Revised 2011 update.
Updated 2016, May 28