การตรวจเพาะเชื้อ การเพาะเชื้อ (Microbial culture)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 กันยายน 2556
- Tweet
การตรวจเพาะเชื้อ หรือ การเพาะเชื้อ อาจใช้ภาษาอังกฤษได้อีกคำ คือ Microbiological culture คือ วิธีการหนึ่งในการช่วยวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการติดเชื้อว่า เป็นการติดเชื้อชนิดใด ซึ่งจะใช้ช่วยให้การรักษาถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพที่สุด เช่น ติดเชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อรา ชนิดใด เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากวินิจฉัยชนิดของเชื้อโรคได้แม่นยำแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อตรวจหาการตอบสนองต่อการใช้ยาชนิดต่างๆในการรักษาโรคนั้นๆได้ด้วย แต่ข้อเสียของการเพาะเชื้อ คือ
- ผลตรวจมักล่าช้า มักใช้เวลาประมาณ 3 วันขึ้นไป เชื้อโรคบางชนิด อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือ เป็นเดือน (ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องให้การรักษาไปก่อนโดยไม่รอผลการเพาะเชื้อ)
- ตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาล ไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาลเพราะต้องใช้เทคโนโลยีที่สูง
- และค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง
ดังนั้นบ่อยครั้งจึงมักใช้ตรวจเฉพาะในการศึกษาวิจัยเท่านั้น
การตรวจเพาะเชื้อ สามารถตรวจได้จาก
- สารคัดหลั่งทุกชนิด เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำเมือกใน ช่องปาก ช่องคอ ทางเดินอาหาร และจากอวัยวะเพศ
- ปัสสาวะ
- อุจจาระ
- น้ำไขสันหลัง
- น้ำในช่องปอด
- น้ำในช่องท้อง
- จากเลือด
- และจากเนื้อเยื่อต่างๆ
โดยการนำสารที่จะเพาะหาเชื้อ มาเพาะเลี้ยงในสารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ที่เรียกว่า Culture media ภายใต้อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม และรอจนกว่าเชื้อโรคจะเจริญเติบโต จนเราสามารถตรวจพบได้ด้วยเทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น กล้องจุลทรรศน์ เป็นต้น
บรรณานุกรม
- Microbiological culture http://en.wikipedia.org/wiki/Microbiological_culture [2013,July25].