กันแดดกันไหม้ รู้ไว้บ้างเด้อ (ตอนที่ 2)

กันแดดกันไหม้รู้ไว้บ้างเด้อ-2

      

      

      เนื่องจากบนฉลากผลิตภัณฑ์จะมีการระบุถึงค่า SPF และ ค่า PA ที่ใช้ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจเรื่องของรังสีอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่า รังสี UV ซึ่งเรามองไม่เห็น แต่สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

      1. รังสี UVA – ในแสงแดดจะมีรังสี UVA มากที่สุด หรือประมาณร้อยละ 95 เป็นรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่น 320-400 นาโนมิเตอร์ ซึ่งสามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้ แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนังเมื่อสัมผัสกับรังสี UVA จะเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่รู้สึกเจ็บเมื่อได้รับรังสีนี้ แต่ผลในระยะยาวเชื่อกันว่า หากได้รับรังสี UVA มากๆ จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระในผิวหนัง ซึ่งจะทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย สีผิวคล้ำเข้ม ขาดความสดใส

      2. รังสี UVB – มีประมาณร้อยละ 5 ของแสงแดด เป็นรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่น 290-320 นาโนมิเตอร์ รังสี UVB จะถูกกั้นโดยชั้นบรรยากาศบางส่วน และลงมาถึงผิวโลก แม้จะไม่สามารถทะลุสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกได้เท่ากับรังสี UVA แต่รังสี UVB ก็มีผลทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบร้อน แดง และไหม้เกรียม

      3. รังสี UVC – เป็นรังสีที่มีคลื่นสั้นที่สุดและเป็นรังสีที่อันตรายที่สุด ในอดีตรังสี UVC จะถูกกรองไว้ได้ทั้งหมดโดยชั้นโอโซน จึงไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงมาได้ แต่ปัจจุบันนี้พบว่า รังสี UVC ก็สามารถทะลุชั้นโอโซนมายังพื้นโลกได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากมลพิษที่มนุษย์ก่อขึ้น จนไปทำลายชั้นโอโซนให้บางลง

      สำหรับค่า SPF (Sun-protection factor) คือ ค่าความสามารถในการป้องกันรังสีซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรังสี UVB (กรณีที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB จะใช้คำว่า “Broad spectrum”) ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแดงของผิวหนัง เช่น ค่า SPF 15, 30, หรือ 50 ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการโดนแสงแดดที่มีหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลา ช่วงเวลา สถานที่ ฤดูกาล และสภาพอากาศ

      ผู้ที่มีผิวไวต่อแสงแดด ผิวจะแดงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรใช้กันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่า ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้เสนอแนะให้ติดฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อแจ้งค่า SPF สูงสุดที่ 50 เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่อ้างอิงได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่ามีค่า SPF มากกว่า 50 จะสามารถให้การปกป้องแสงแดดได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 50 แต่อย่างใด

      ส่วนค่า PA (Protection Grade of UVA) เป็นค่าที่ประเทศญี่ปุ่นคิดขึ้น ไม่ใช่ค่าสากล เป็นค่าที่แสดงถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากรังสียูวีเอ (UVA) ในขณะที่เครื่องหมาย + ที่ตามหลังนั้น คือ ค่าความสามารถในการปกป้องผิว โดยวัดเป็นเท่าของการเกิดผิวคล้ำดำ (Skin pigmentation) โดยค่า PA มีดังนี้

  • PA+ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 2-4 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้น้อย
  • PA++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 4-8 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้ปานกลาง (ทำงานในร่ม)
  • PA+++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 8-16 เท่า หรือป้องกันได้มาก (ทำงานกลางแดด)
  • PA++++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 16 เท่าขึ้นไป หรือป้องกันได้สูงมาก (ทำงานกลางแดดตลอดเวลา)

แหล่งข้อมูล:

  1. Sun Protection and Sunscreens. https://www.medicinenet.com/sun_protection_and_sunscreens/article.htm#do_sunscreens_expire [2018, July 7].