กองทุนประกันสังคม

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานซืน โครงการประกันสังคม (Social security) เป็นโครงการที่ 2 ที่เกิดขึ้นเพื่อประกันสุขภาพของประชาชนอีกลุ่มหนึ่ง ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการดูแลสุขภาพแก่ลูกจ้างในภาคธุรกิจของเอกชน

ก่อนหน้านี้ ในประเทศไทยกองทุนเงินทดแทน นับเป็นก้าวแรกของการประกันสังคมไทย ที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยที่กองทุนเงินทดแทน เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 ภายใต้การบริหารของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน [ขณะนั้นยังไม่มีฐานะเป็นกระทรวง]

โดยในปีแรกของ การให้ความคุ้มครอง ได้ครอบคลุมเฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แล้วจึงค่อยๆ ขยายความคุ้มครองออกไปจนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศใน วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 จวบจนกระทั่งได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ประเทศไทยจึงมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ

ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ และตาย ทั้งนี้เนื่องและไม่เนื่องจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2537 โครงการนี้ก็ขยายการครอบคลุมถึงธุรกิจทุกประเภทที่มีพนักงานอย่างน้อย 10 คนขึ้นไป

และต่อมาใน ปี พ.ศ. 2545 ก็ขยายการครอบคลุมอีกครั้งหนึ่ง ถึงธุรกิจทุกประเภทที่มีพนักงานอย่างน้อย 1 คนขึ้นไป จนถึงปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมถึง 10% ของประชากรทั่วประเทศ หรือประมาณ 6.5 คน สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานประกันสังคม โดยผลประโยชน์ที่ได้รับค่อนข้างจะครบสมบูรณ์ (Comprehensive)

แหล่งเงินทุนของโครงการนี้ มาจากการสมทบของนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐฝ่ายละ 1.5% ของเงินเดือนพนักงาน อัตราสมทบดังกล่าวอาจลดลงเหลือฝ่ายละ 1% ในช่วงเศรฐกิจวิกฤต หรือไม่ต้องสมทบชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจ

โรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยความสมัครใจ สามารถติดต่อทำสัญญากับธุรกิจในการให้บริการผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งในฐานะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก ผู้ได้รับผลประโยชน์เองก็สามารถเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญา แล้วใช้บริการดูแลสุขภาพ จากเครือข่ายของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก

สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายให้โรงพยาบาลในลักษณะเหมาจ่ายต่อหัว (Capitation) คูณด้วยจำนวนพนักงานผู้รับผลประโยชน์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ จำนวนเงินในปี พ.ศ. 2545 คือ 1,505 บาท แล้วเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของการบำบัดรักษาทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ภายใต้ระบบนี้ โรงพยาบาลมีแรงจูงใจในการลดต้นทุนลง โดยการให้บริการเท่าที่จำเป็น และไม่สั่งจ่ายยาเกินความเป็นจริง ดังนั้นต้นทุนต่อหัวจึงควบคุมได้ง่ายกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. Pongpirul, Krit (2011, March). Hospital Coding Practice, Data Quality, and DRG-Based Reimbursement Under the Thai Universal Coverage Scheme. PhD Dissertation at Johns Hopkins University, Baltimore, Maryland.