กล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน (ตอนที่ 4)

ไม่ใช่ทุกคนจะมีอาการเหมือนกันในทุกระยะ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณบอกได้ก็คือ อาการปวดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นซึ่งควรจะมีการพักการใช้งาน มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บเป็นระยะเวลานานหรือแก้ไขไม่ได้เลย

ตัวอย่างของอาการ WMSDs ที่เกี่ยวกับร่างกายส่วนบนที่พบได้บ่อย เช่น

โรคเอ็นอักเสบ (Tendonitis / Tenosynovitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด อ่อนแรง บวม รู้สึกแสบร้อน หรือปวดตื้อๆ บริเวณตำแหน่งของเส้นเอ็นที่เกิดการอักเสบขึ้น เกิดจากการเคลื่อนไหวข้อมือ ไหล่ ในท่าซ้ำๆ การยืดแขน การมีน้ำหนักกดลงบนไหล่เป็นเวลานาน

การอักเสบในบริเวณปุ่มกระดูกเหนือข้อ (Epicondylitis / Elbow tendonitis) เกิดจากการหมุนปลายแขนและงอข้อมือในเวลาเดียวกัน มีลักษณะอาการเหมือนโรคเอ็นอักเสบ

กลุ่มโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome = CTS) เกิดจากการใช้ข้อมือซ้ำๆ ทำให้เกิดอาการปวด ชา เป็นเหน็บ รู้สึกแสบร้อน ฝ่ามือแห้ง

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain's) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือ ตรงบริเวณข้อมือ ทำให้เกิดการบวมและการหนาตัวของเส้นเอ็น โดยมีสาเหตุเกิดจากการบิดข้อมือและการใช้แรงจับเกาะ

โรคเส้นประสาทถูกเบียดกดทับที่บริเวณซี่โครงอันที่1 (Thoracic outlet syndrome = TOS) เป็นกลุ่มอาการที่มีการกดทับของหลอดเลือดหรือเส้นประสาทที่บริเวณช่องอก (Thoracic outlet) เกิดจากการเคลื่อนแขนในแนวหน้าหลัง การยกแขนเหนือไหล่ ทำให้เกิดอาการปวด ชา มือบวม

กลุ่มอาการตึงคอ (Tension neck syndrome) เกิดจากการอยู่ในท่าจำกัดเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการปวด

การวินิจฉัยโรค WMSDs มักยืนยันผลด้วยการทดสอบทางห้องแล็บ เพื่อดูว่าเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อถูกทำลายไปแค่ไหน เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อระบบประสาทโดยใช้เครื่อง Electroneuromyography (ENMG) ซึ่งสามารถแบ่งการตรวจออกได้ 2 อย่าง คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography = EMG) และ การตรวจการนำกระแสประสาท (Nerve Conduction Velocity = NCV) นอกจากนี้อาจใช้การตรวจเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI) เพื่อดูภาพของเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นยึด และกล้ามเนื้อ ทำให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

[การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography = EMG) เพื่อ 1) ใช้วินิจฉัยหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่คอและหลัง 2) วินิจฉัยโรคของกล้ามเนื้อ เพื่อทราบระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเส้นประสาทส่วนปลาย และ 3) เพื่อใช้ในการติดตามผลการรักษาดูการฟื้นตัวของเส้นประสาท

ส่วนการตรวจการนำกระแสประสาท (Nerver Conduction Velocity = NCV) เพื่อ 1) ใช้วินิจฉัยอาการมือชา เท้าชา ว่าเกิดจากโรคของเส้นประสาทส่วนปลายหรือไม่ เช่น ผังพืดกดรัดเส้นประสาทที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome = CTS) หรือโรคของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral neuropathy) เป็นต้น 2) ใช้วินิจฉัยแยกโรคในกรณีสงสัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และ 3) ใช้วินิจฉัยโรคที่มีพยาธิสภาพที่รอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น Myastheniagravis]

แหล่งข้อมูล:

  1. Work-related Musculoskeletal Disorders (WMSDs). http://www.ccohs.ca/oshanswers/diseases/rmirsi.html [2014, January 19].
  2. ประโยชน์ของเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อระบบประสาท http://md-center.org/md/news/26 [2014, January 19].