กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) คือ ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่อยู่ในหมวดย่อยของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)ซึ่งอิทธิพลและหน้าที่สำคัญต่อร่างกายคือ

  • ทำหน้าที่ลดอาการอักเสบของร่างกาย
  • เร่งการเผาผลาญของน้ำตาลและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีปริมาณเป็นไปอย่างปกติ
  • ช่วยกระตุ้นการพัฒนาการเจริญของอวัยวะของร่างกาย เช่น ปอด สมอง เป็นต้น

(รายละเอียด ‘ข้อบ่งใช้’ ยากลูโคคอร์ติคอยด์ กล่าวใน ‘หัวข้อ สรรพคุณฯ’)

ทั้งนี้ ด้านเภสัชกรรมได้มีการสังเคราะห์ยาเลียนแบบโครงสร้างของกลูโคคอร์ติคอยด์ ดังนี้เช่น

ก. Cortisol (Hydrocortisone): ทำหน้าที่กระตุ้นการเพิ่มน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในเลือด ยับยั้งการอักเสบของร่างกาย รวมถึงการควบคุมระบบการเผาผลาญสารอาหารจำพวกไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต

ข. Cortisone: ทำหน้าที่เมื่อร่างกายอยู่ภายใต้สภาวะความตึงเครียด ทำให้ความดันโลหิตสูง,กระตุ้นให้เกิดภาวะเตรียมพร้อมระหว่างการต่อสู้ป้องกันตัว, นอกจากนี้ยังทำให้ลดอาการปวด-บวมจากการ อักเสบของเอ็น ข้อต่อ เข่า ศอก ไหล่ และช่วยป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่มีการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยในการปลูกถ่ายอวัยวะ

ค. Prednisolone: เป็นยากลูโคคอร์ติคอยด์ชนิดสังเคราะห์ที่นำมารักษาอาการอักเสบของร่างกาย, ช่วยกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย, มีการนำยานี้ไปใช้กับผู้ป่วยไตวาย (Renal failure), ผู้ป่วยโรคหืด, ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis), โรคโครห์น (Crohn’s disease) และอื่นๆ

ง. Prednisone: เป็นสารสังเคราะห์และนำมาใช้รักษาอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด รวมไปถึงโรคข้อรูมาตอยด์ อาการแพ้ต่างๆ ไมเกรน ลมพิษ พยาธิสภาพของไต ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอื่นๆ

จ. Dexamethasone: ใช้รักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์ การแพ้ทางผิวหนัง โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง อาการสมองบวม และเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกรับรองโดยระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน

ฉ. Methylprednisolone: ใช้ต้านการอักเสบต่างๆเช่น กระดูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ

ช. Triamcinolone: ใช้รักษาอาการแพ้ทางผิวหนัง และแผลร้อนใน (Aphthous ulcers)

ซ. Betamethasone: ใช้ต่อต้านการอักเสบของร่างกายรวมถึงกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเพื่อลดภาวะหรือการแพ้ต่างๆ เป็นยาสเตียรอยด์อีกหนึ่งตัวที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน

ฌ. Beclomethasone: ถูกนำมาผลิตเป็นยาพ่นเพื่อรักษาอาการโรคหืด รักษาอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงใช้รักษาอาการของแผลร้อนใน, โดยสำหรับรูปแบบที่เป็นยาครีม ยาขี้ผึ้ง ใช้ทาเพื่อรักษาอาการอักเสบทางผิวหนังเช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ(Eczema) และเป็นยาอีกหนึ่งตัวที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

ญ. Fludrocortisone: ใช้รักษาอาการ Cerebral salt wasting syndrome (ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ อาจจากเนื้องอกสมอง หรืออุบัติเหตุที่สมอง, โรคแอดดิสัน (Addison’s disease :โรคขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไต), Conn’s syndrome (เนื้องอกชนิดหนึ่งที่เซลล์เนื้องอกสามารถสร้างฮอร์โมนเพศชายได้), รวมถึงภาวะ Postural orthostatic tachycardia syndrome (ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเมื่อเปลี่ยนท่าทางจากนั่ง/นอนเป็นลุกยืน) และยังจัดเป็นยาอีกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

อนึ่ง หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาที่รวมถึงความเหมาะสมต่ออาการโรคของยากลุ่มนี้ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้วินิจฉัยคัดกรองการใช้กับผู้ป่วย จึงจะเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

กลูโคคอร์ติคอยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

กลูโคคอร์ติคอยด์

ยากลูโคคอร์ติคอยด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคภูมิต้านทานตนเอง/ โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
  • รักษาและบำบัดอาการ โรคข้อรูมาตอยด์, โรคกระดูกอักเสบ
  • รักษาโรคลำไส้อักเสบ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
  • รักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
  • รักษาโรคผิวหนังอักเสบ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ
  • รักษาอาการ โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง
  • ช่วยป้องกันการปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะของผู้ป่วย

กลูโคคอร์ติคอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อาจแบ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยากลูโคคอร์ติคอยด์ตามการบริหารยา/การใช้ยา ดังนี้เช่น

ก.ยาใช้เฉพาะที่: ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวในบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณที่อักเสบดังกล่าว

ข.ยาสำหรับสูดพ่น: ออกฤทธิ์โดยบรรเทาและลดการอักเสบของหลอดลม ทำให้หลอดลมเปิดกว้างเพื่อให้อากาศเข้าออกได้สะดวก อีกทั้งลดปริมาณการสร้างเมือก/สารคัดหลั่งที่คอยอุดกั้นตามหลอดลมอีกด้วย

ค.ยารับประทาน: หลังดูดซึมเข้าร่างกายจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptors) ของร่างกายป้องกันมิให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายบริเวณเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบอีกทั้งกดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงทำให้อาการโรคทุเลาขึ้น

ง:ยาฉีด: กลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับชนิดรับประทาน แต่ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า

กลูโคคอร์ติคอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลูโคคอร์ติคอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด, ยาแคปซูล, และยาน้ำ, สำหรับรับประทาน
  • ยาครีม, และยาขี้ผึ้ง, สำหรับทาผิวหนัง
  • ยาหยอดตา
  • ยาหยอดหู
  • ยาฉีด

กลูโคคอร์ติคอยด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์มีหลากหลายรายการ ขนาดรับประทาน/การใช้ยาจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลประจำตัวของตัวผู้ป่วย/ประวัติทางการแพทย์ ชนิดของโรคและอาการ ร่วมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด

ดังนั้น การจะเลือกใช้ยาในกลุ่มนี้ทั้ง ชนิดยา, ขนาดยา,และระยะเวลาที่ใช้ยา, จึงควรเป็นคำ แนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลูโคคอร์ติคอยด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลูโคคอร์ติคอยด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน/ใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กลูโคคอร์ติคอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น

  • การใช้ยานี้ไปนานๆอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายต่อร่างกายผู้ป่วยได้
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ลดการดูดซึมของแคลเซียมเป็นผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนตามมา
  • หากมีบาดแผลตามร่างกายจะทำให้แผลหายช้า
  • เกิดภาวะไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มสูงขึ้น
  • เกิดภาวะใบหน้าบวมกลม
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีสิวขึ้นทั้งใบหน้าและทั่วตัว
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย
  • อารณ์แปรปรวน
  • อาจสับสน
  • อาจรู้สึกซึมเศร้า

มีข้อควรระวังการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วยอาจก่อให้เกิดความพิการของทารก
  • ห้ามใช้รักษาภาวะร่างกายเกิด โรคติดเชื้อไวรัส เช่น เริม, โรคเชื้อรา, ติดเชื้อแบคทีเรีย, ด้วยจะทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในช่องทางเดินอาหารด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทาง เดินอาหาร
  • การใช้ยานี้ชนิดรับประทานกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต, โรคนิ่วในไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ทั้งชนิดไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) และสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis)
  • การใช้ยากลุ่มนี้อาจทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
  • การหยุดใช้ยากลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรปรับขนาดยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และ สมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กลูโคคอร์ติคอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากลูโคคอร์ติคอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะทำให้ฤทธิ์ของการต้านการแข็งตัวของเลือดลดลง และก็ทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)ได้ง่ายขึ้น หากไม่จำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มพร้อมกัน
  • การใช้ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ร่วมกับ ยาเบาหวานสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ร่วมกับ ยา Amphotericin B สามารถทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ จึงต้องเฝ้าระวังสมดุลของเกลือแร่ต่างๆในร่างกายเมื่อมีการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Prednisone ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เกิดภาวะลมชักได้ง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษากลูโคคอร์ติคอยด์อย่างไร?

ควรเก็บยากลูโคคอร์ติคอยด์:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

กลูโคคอร์ติคอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลูโคคอร์ติคอยด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Prednersone (เพรดเนอร์โซน)General Drugs House
Prednisolone A.N.H. (เพรดนิโซโลน เอ.เอ็น.เฮช)A N H Products
Prednisolone Asian Pharm (เพรดนิโซโลน เอเชียน ฟาร์ม)Asian Pharm
Prednisolone Atlantic (เพรดนิโซโลน แอทแลนติก)Atlantic Lab
Prednisolone GPO (เพรดนิโซโลน จีพีโอ)GPO
Predsomed (เพรดโซเมด)Medicpharma
Prednisolone Greater Pharma (เพรดนิโซโลน เกรตเตอร์ ฟาร์มา)Greater Pharma
Beta (เบต้า)Chew Brothers
Betacort (เบต้าคอร์ท)Utopian
Bethasone (เบทาโซน)Greater Pharma
Betnovate (เบทโนเวท)GlaxoSmithKline
Archidex Eye/Ear (อาร์ชิเด็กซ์ อาย/เอีย)T P Drug
B. Dexol (บี. เดกซอล)Medicine Products
Cadexcin-N (คาเดกซิน-เอ็น)Thai Nakorn Patana
CD-Oph (ซีดี-ออฟ)Seng Thai
Decadron With Neomycin (เดกคาดรอน วิท นีโอมายซิน)MSD
Dexa (เดกซา)Utopian
Dexa ANB (เดกซา เอเอ็นบี)ANB
Dexacin (เดกซาซิน)ANB
Dexaltin (เดกซอลติน)ANB
Dexamethasone Charoen Bhaesaj (เดกซาเมทาโซน เจริญเภสัช)Charoen Bhaesaj Lab
Dexamethasone General Drugs House (เดกซาเมทาโซน เจเนอรัล ดักซ์ เฮาส์)General Drugs House
Dexamethasone GPO (เดกซาเมทาโซน จีพีโอ)GPO
Dexamethasone K.B. (เดกซาเมทาโซน เค.บี.)K.B. Pharma
Dexamethasone Medicine Products (เดกซาเมทาโซน เมดิซิน โพรดักซ์)Medicine Products
Dexamethasone Medicpharma (เดกซาเมทาโซน เมดิกฟาร์มา)Medicpharma
Dexamethasone Pharmasant (เดกซาเมทาโซน ฟาร์มาสัน)Pharmasant Lab
Dexamethasone T Man (เดกซาเมทาโซน ที แมน)T. Man Pharma
Dexamethasone T.P. (เดกซาเมทาโซน ที.พี.)T P Drug
Dexano (เดกซาโน)Milano
Dexa-O (เดกซา-โอ)Chinta
Dexa-P (เดกซา-พี)P P Lab
Dexapro (เดกซาโปร)Medicine Products

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/drug-class/glucocorticoids.html [2021,July3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid [2021,July3]
  3. https://www.healthline.com/health/glucocorticoids [2021,July3]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cortisol [2021,July3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cortisone [2021,July3]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Prednisolone [2021,July3]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Prednisone [2021,July3]
  8. https://www.healthline.com/health/glucocorticoids#Overview1 [2021,July3]
  9. https://www.merckvetmanual.com/pharmacology/anti-inflammatory-agents/corticosteroids[2021,July3]
  10. https://hopes.stanford.edu/glucocorticoids/ [2021,July3]
  11. https://www.drugs.com/drug-interactions/budeprion-with-prednisone-440-3239-1936-0.html[2021,July3]
  12. https://www.medicinenet.com/prednisolone_solutionsyrup-oral/article.htm [2021,July3]