กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด หรือ กลุ่มอาการเอมพีเอส Myofascial Pain Syndrome (MPS)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 17 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- กลุ่มอาการเอมพีเอสคืออะไร?มีสาเหตุจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการเอมพีเอสขึ้น?
- กลไกการเกิดกลุ่มอาการเอมพีเอสคืออะไร?
- อาการปวดจากกลุ่มอาการเอมพีเอสมีลักษณะอย่างไร?
- เมื่อมีกลุ่มอาการเอมพีเอสควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการเอมพีเอสได้อย่างไร?
- กลุ่มอาการใดที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอาการเอมพีเอสบ้าง?
- การรักษากลุ่มอาการเอมพีเอสทำอย่างไร?
- การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการเอมพีเอสเป็นอย่างไร?
- ผู้ป่วยกลุ่มอาการเอมพีเอสควรดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันกลุ่มอาการเอมพีเอสได้อย่างไร?
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- อัมพฤกษ์ อัมพาต แขน ขา อ่อนแรง (Muscle weakness)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยาคลายกังวล (Anxiolytic)
บทนำ
“ปวดหลังมากเลยครับ คุณหมอครับ ผมจะเป็นโรคไตหรือไม่” ผมเชื่อว่าทุกวันที่แพทย์ออกตรวจผู้ป่วย ต้องพบผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมาหา และผู้ป่วยก็มีความวิตกกังวล กลัวจะเป็นโรคโน่นโรคนี้ต่างๆ นานา เช่น โรคไต โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท (ปวดหลัง:ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) โรคกระดูกพรุน และต้องการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ) และอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งทำให้แพทย์และผู้ป่วยสับสนมากยิ่งขึ้นว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ที่ทำให้ปวดหลัง
ลองติดตามบทความนี้กันครับ ท่านจะเข้าใจ “โรคหรือกลุ่มอาการปวดกล้ามและเนื้อเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome ย่อว่า MPS)” หรือเรียกย่อว่า “โรคหรือกลุ่มอาการเอมพีเอส” มากขึ้น และอาการปวดเมื่อยก็จะไม่ใช่เรื่องยากต่อไป ถ้าท่านเข้าใจเรื่องดังกล่าว
กลุ่มอาการเอมพีเอสคืออะไร?มีสาเหตุจากอะไร?
โรคหรือกลุ่มอาการ เอมพีเอส คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด โดยเป็นกลุ่มอาการปวดร้าว (Referred pain) และ/หรืออาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เนื่องจากมีจุดปวด/จุดกดเจ็บ (Trigger point) ที่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อพังผืด โดยพบร่วมกับภาวะกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle spasm)
กลุ่มอาการเอมพีเอส เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากของการปวดส่วนต่างๆของร่างกาย และน่าจะเป็นสาเหตุอาการปวดจากระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่ปวดเรื้อรังมากที่สุด
กลุ่มอาการเอมพีเอส พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบสูงในช่วงอายุ 31-50 ปี พบในผู้ทำงานที่ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น พนักงานสำนักงาน หรือผู้ใช้แรงงาน
สาเหตุพบบ่อยที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการเอมพีเอส คือ การใช้กล้ามเนื้อมัดที่เกิดอาการ ผิดท่าทาง ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ และต่อเนื่อง จนเกิดความผิดปกติในการหดตัวของกล้ามเนื้อตำแหน่งนั้นขึ้น
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการเอมพีเอสขึ้น?
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดในกลุ่มอาการเอมพีเอส หรือที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ที่พบบ่อย คือ
- การใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ใช้นานและต่อเนื่อง ซ้ำๆ โดยไม่พัก
- และการใช้กล้ามเนื้อนั้นในท่าที่ไม่เหมาะสม
- รู้สึกไม่สบาย (เจ็บ/ปวดกล้ามเนื้อ)และยังฝืนทำงานต่อ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง และเกิดการสะสมและคั่งค้างของของเสียในกล้ามเนื้อ จึงส่งผลทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น
- ร่วมกับ
- ความเครียด
- และ/หรือ การพักผ่อนไม่เพียงพอ
กลไกการเกิดกลุ่มอาการเอมพีเอสคืออะไร?
สมติฐานเชื่อว่า เกิดจากการที่กล้ามเนื้ออยู่ในภาวะทำงานหนักมาก (Overload) เป็นเวลานานจนทำให้กล้ามเนื้อทำหน้าที่ผิดปกติ โดยกล้ามเนื้อมีการหดตัวเป็นเวลานาน (Self-sustained contraction) จนกล้ามเนื้อขาดพลังงาน ทำให้มีการคั่งของของเสียต่างๆ จึงทำให้เกิดอาการปวดเกิดขึ้น และยังเชื่อว่า อาจมีความผิดปกติในไขสันหลังร่วมด้วย
อาการปวดจากกลุ่มอาการเอมพีเอสมีลักษณะอย่างไร?
อาการปวดจากกลุ่มอาการเอมพีเอสมีลักษณะหรือรูปแบบการปวด ดังนี้
- ปวดตื้อๆ ลึกๆ (Deep dull aching) เช่น ปวดบริเวณสะบัก จะปวดคล้ายสะบักจม
- ปวดร้าว (Referred pain) อาการปวดของกล้ามเนื้อแต่ละตำแหน่งจะมีลักษณะเฉพาะ เช่น โรคเกิดที่กล้ามเนื้อหลังมัดที่ชื่อว่า Trapezius (โดยเฉพาะในบริเวณส่วนตอนต้นๆของกล้ามเนื้อ) จะปวดบริเวณก้านคอ ขมับ กรามล่าง และครอบคลุมถึงบริเวณศีรษะ เป็นต้น
- ความรุนแรงองอาการ มีได้ตั้งแต่ปวดเมื่อยน่ารำคาญ จนถึงปวดรุนแรง
- เวลาที่ปวด มีทั้งปวดตลอดเวลา หรือ ปวดเฉพาะเวลาใช้งาน
- ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปที่เกิดร่วมกับอาการปวด เช่น ชาที่ผิวหนัง แต่เป็นเพียงความรู้สึก โดยแพทย์จะตรวจไม่พบความผิดปกติเหล่านี้
- อุณหภูมิที่ผิวหนังบริเวณปวดจะเย็นลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามือเท้าเย็น เหมือนเลือดไหลเวียนไม่ดี
- อาจมีอาการ คัดจมูก น้ำตาเอ่อ ตาแดง วิงเวียนศีรษะ เวลามีการเคลื่อนไหวของคอและศีรษะ
อนึ่ง กลุ่มอาการเอมพีเอส มีทั้ง ปวดแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง คือ
- กลุ่มเฉียบพลันจะปวดมานานไม่เกิน 2 เดือน
- กลุ่มกึ่งเฉียบพลัน อาการจะเป็นมาประมาณ2-6 เดือน
- และกลุ่มเรื้อรัง อาการมักเกิดนานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
เมื่อมีกลุ่มอาการเอมพีเอสควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการในกลุ่มอาการเอมพีเอสดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’ ที่ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ได้แก่
- อาการที่รบกวนต่อการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาการที่ส่งผลต่อการทำงานและการเคลื่อนไหว
- และ/หรือ อาการที่ทำให้นอนไม่ได้
- และ/หรือ อาการที่ต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการเอมพีเอสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการเอมพีเอส โดยพิจารณาจาก
- ประวัติที่มีอาการปวดเข้าได้กับอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ
- ร่วมกับตรวจพบ จุดปวด/กดเจ็บ (Trigger point) และไตแข็งที่เกิดจากการหดแข็งตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อ ในแนวเริ่มจากจุดปวดไปจนถึงตำแหน่งปลายของกล้ามเนื้อมัดนั้น (Taut band) โดยไม่พบสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ทำให้มีอาการปวด
- ซึ่งทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ไอ หรือ เจาะตรวจเลือดเพิ่มเติม
กลุ่มอาการใดที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอาการเอมพีเอสบ้าง?
กลุ่มอาการอื่นๆที่ต้องแยกออกจากกลุ่มอาการเอมพีเอส คือ
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
- โรคพีเอมอาร์ (Polymyalgia rheumatic ย่อว่า โรคพีเอมอาร์/PMR)
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome)
- และกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness)จากสาเหตุอื่น เช่น จากพันธุกรรมผิดปกติ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก)
การรักษากลุ่มอาการเอมพีเอสทำอย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการพีเอมเอส ประกอบด้วย
- การรักษาเฉพาะที่
- การค้นหาและแก้ไขปัจจัยเสี่ยง
- การใช้ยา
1.การรักษาเฉพาะที่ ได้แก่
- การฉีดยาที่จุดปวด/จุดกดเจ็บ ยาที่ใช้ เช่น ยาชาเฉพาะที่ ยาสเตียรอยด์ ยา โบทูไลนุ่มทอกซิน (Botulinum toxin)
- การพ่นด้วยความเย็นแล้วยืดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิคทางกายภาพบำบัด
- การนวด
- การบริหารกล้ามเนื้อ
- การใช้ความร้อนบำบัด
- การฝังเข็ม
- การทำอัลตราซาวด์กล้ามเนื้อ
2. ค้นหาและแก้ไขปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปัจจัยเชิงกล โรคต่างๆ และปัจจัยทางจิตใจ
- ปัจจัยเชิงกล เช่น
- ความบกพร่องของร่างกายทำให้กล้ามเนื้อไม่สมดุล เช่น ขา 2 ข้างไม่เท่ากัน
- ท่าทางหรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งก้มคอและหลัง
- การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือก้มๆ เงยๆ ทั้งวัน
- การออกแรงมากเกินไป หรือนานเกินไป
- รวมทั้งการกดรัดกล้ามเนื้อตลอดเวลา เช่น ใส่เสื้อชั้นในที่มีสายรัดไหล่บ่าแน่นเกินไป
- โรคต่างๆ เช่น
- ภาวะ/ โรคซีด
- ต่อมธัยรอยด์ทำงานต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)
- และ ข้อเสื่อม
- ปัจจัยทางจิตใจ เช่น
- ความเครียด
- วิตกกังวล
- ซึมเศร้า
3. การใช้ยา ได้แก่
- ยาแก้ปวด
- ยาคลายกล้ามเนื้อ
- ยาต้านเศร้า
- ยาคลายกังวล เป็นต้น
การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการเอมพีเอสเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในกลุ่มอาการเอมพีเอส ดีมาก โอกาสหายสูง ถ้าแก้ไขปัจจัยเสี่ยง ทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัดแนะนำ
อนึ่ง กลุ่มอาการเอมพีเอสนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาต และไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
ผู้ป่วยกลุ่มอาการเอมพีเอสควรดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้ ควรดูแลตนเองโดย
- การปรับท่าทางในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆให้เหมาะสม
- ไม่ฝืนทำกิจกรรมต่างๆเป็นเวลานาน
- ถ้าเริ่มมีอาการปวดเมื่อย ควรหยุดพักการทำกิจกรรมนั้นๆ
- และควรออกกำลังกาย และบริหารร่างกายโดยการยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือมีการนวดอย่างรุนแรง และผิดวิธีจากผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมการทำกายภาพบำบัด
- และไม่ควรซื้อยาแก้ปวดมาทานเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ พยาบาล และ/หรือเภสัชกร ก่อน
- ทั้งนี้ กรณีที่ควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ ได้แก่
- อาการทรุดลง
- เจ็บปวดกล้ามเนื้อมากขึ้น
- เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมต่างๆลำบากมากขึ้น
- หรือต้องใช้ยาแก้ปวดมากขึ้น
ป้องกันกลุ่มอาการเอมพีเอสได้อย่างไร?
การป้องกันโรคนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่
- ทำกิจกรรมต่างๆด้วยท่าทางที่เหมาะสม
- ไม่หักโหมในการทำงาน หรือทำกิจกรรมใดๆต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ยืดกล้ามเนื้อที่มีการใช้งานเป็นประจำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ