กลากน้ำนม เกลื้อนนำนม (Pityriasis alba)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลากน้ำนม หรือ เกลื้อนน้ำนม (Pityriasis alba) คือโรคที่เกิดจากเม็ดสีเมลานิน (Mela nin) ที่ผิวหนังบางส่วนลดจำนวนลงโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะสีผิวจางลงเป็นวงด่าง พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 6-16 ปี โดยพบได้ 5-10% โดยประมาณของเด็กในช่วงอายุนี้ ทั้งนี้ 90% ของผู้ป่วยจะมีอายุน้อยกว่า 12 ปี

อะไรเป็นสาเหตุและกลไกการเกิดกลากน้ำนม?

กลากน้ำนม

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดกลากน้ำนม จากการตรวจสอบผิวหนังบริเวณรอยโรคที่เกิดกลากน้ำนม พบเพียงแต่ปริมาณเม็ดสีเมลานินที่ลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ชื่อกลาก/เกลื้อนน้ำนมนั้น เป็นชื่อที่เกิดจากความเข้าใจผิด เพราะแท้จริงแล้วโรคนี้ไม่ติด ต่อ และไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค หรือเชื้อรา แต่อย่างใด

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกลากน้ำนม?

กลากน้ำนมพบได้มากขึ้นในเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) และอาจสัมพันธ์กับการตากแดด และอากาศแห้งที่ทำให้รอยโรคปรากฎชัดเจนมากขึ้น

กลากน้ำนมมีอาการอย่างไร?

อาการของกลากน้ำนม คือ เป็นวงด่างขาวขนาดประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีขุย แต่ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน พบบ่อยที่บริเวณแก้ม บริเวณอื่นของใบหน้าแขน ขา ไหล่ ลำตัว ก็พบได้เช่น กัน วงด่างขาวนี้ระยะแรกอาจเป็นผื่นแดงเล็กน้อย (อาจมีอาการคันที่ผื่นได้ในระยะนี้) แล้วกลาย เป็นด่างขาว โดยระยะที่ผื่นแดงนั้นผู้ป่วยอาจไม่สังเกตเห็น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

หากมีผื่นผิดปกติบนใบหน้าหรือบริเวณอื่นๆ สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวิ นิจฉัยและรับคำแนะนำได้

แพทย์วินิจฉัยกลากน้ำนมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลากน้ำนมได้จาก ประวัติอาการ และการตรวจร่างกายบริเวณรอยโรค แต่หากมีข้อสงสัยต้องแยกจากโรคกลาก หรือโรคเกลื้อน ก็จะขูด รอยโรค เพื่อส่งตรวจหาเชื้อราที่ก่อโรคดังกล่าว

รักษากลากน้ำนมอย่างไร?

การรักษากลากน้ำนม คือ การใช้ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ความเข้มข้นต่ำชนิดทา เช่น 1% Hydrocortisone ในระยะเวลาจำกัดภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันผลข้าง เคียงจากการใช้สเตียรอย์เป็นเวลานาน เช่น ผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง อักเสบ แตกเป็นแผลง่าย และยานี้อาจถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด เข้าไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต

กลากน้ำนมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของกลากน้ำนม คือ เป็นโรคที่หายได้เอง และไม่ทิ้งร่องรอยด่างหรือแผลเป็นไว้ แต่ก็สามารถกลับเป็นได้อีก มักหายได้เองภายในเวลาเป็นเดือน หรือ หนึ่งปี

กลากน้ำนมก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ไม่มีผลข้างเคียงจากกลากน้ำนม หรือความผิดปกติถาวร ยกเว้นปัญหาในด้านความสวย งาม และภาพลักษณ์

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นกลากน้ำนม คือ

  • ทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) และครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันโดยเฉพาะบริเวณรอยโรค
  • อาบน้ำ ทำความสะอาดผิวบริเวณรอยโรคด้วยสบู่ที่อ่อนโยน เช่น สบู่เด็กอ่อน
  • บริเวณรอยโรค ถ้าใช้เครื่องสำอางต้องเป็นชนิดไม่แพ้และชนิดอ่อนโยนต่อผิวหนัง
  • อาบน้ำที่อุณหภูมิปกติ หรือเพียงพออุ่น ไม่อุ่นจัด

ป้องกันกลากน้ำนมอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันกลากน้ำนม เพราะยังไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจลดโอกาสเกิดลงได้ด้วยวิธีดูแลผิวเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง ที่สำคัญ คือ

  • รักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้นเสมอ ไม่ให้เกิดภาวะผิวแห้ง ด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวหลังอาบน้ำทุกครั้ง และใช้ครีมกันแดดเสมอ
  • ใช้สบู่และเครื่องสำอางผิวชนิดที่อ่อนโยนต่อผิวเสมอ เช่น สบู่เด็กอ่อน

บรรณานุกรรม

  1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร . Dermatology 2020.พิมพ์ครั้งที่ 1.บริษัท โฮลิสติก พับลิชิ่ง จำกัด .
  2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill
  3. Pityriasis alba : http://emedicine.medscape.com/article/910770-overview [2014,April7].