กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย (ตอนที่ 7)

กระจ่างขึ้นด้วยเครื่องช่วยวินิจฉัย

เพทสแกน (Positron emission tomography = PET) เป็นการถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (Metabolism imaging) ในเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย ด้วยการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีหรือที่เรียกว่า สารกัมมันตรังสีตามรอย (Radiotracer) เข้าไปในร่างกายอย่างเส้นเลือดที่แขน โดยสารนี้จะไหลเวียนไปทั่วร่างกายและถูกดูดซึมโดยอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ

หลังจากนั้นผู้รับการตรวจนอนบนเตียงที่เคลื่อนเข้าสู่สแกนเนอร์ที่มีลักษณะคล้ายโดนัท โดยอาศัยหลักการที่ว่า เซลล์มะเร็งจะมีกิจกรรมการทำงานหรือการแบ่งตัวมาก จึงใช้พลังงานมากกว่าเซลล์ปกติ ดังนั้นเซลล์มะเร็งจะดูดสารกัมมันตรังสี (Radioactive substance) ได้มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ และเปล่งรังสีออกมาในปริมาณสูง เครื่องสแกนจึงสามารถจับภาพภายในร่างกายได้

เพ็ทสแกนสามารถใช้วัดการทำงานที่สำคัญ เช่น การไหลเวียนของเลือด การใช้ออกซิเจน การเผาผลาญกลูโกส (Glucose metabolism) เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ทำงานผิดปกติได้

ปัจจุบันนิยมใช้เพ็ทสแกนตรวจหามะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และการถูกทำลายของหัวใจภายหลังกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack) สมอง (รวมถึงก้อนเนื้อในสมอง ความจำผิดปกติ การชัก) และความผิดปกติของระบบประสาท

ความแตกต่างระหว่างเพ็ทสแกนกับซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอก็คือ เพ็ทสแกนสามารถบอกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเมตาโบลิซึ่ม (Metabolic changes) ที่เกิดขึ้นในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินโรคอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานที่ระดับเซลล์ (Cellular level)

เพ็ทสแกนสามารถตรวจสอบได้ในถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้นที่เกิดขึ้น ในขณะที่ซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อไปซักระยะก่อนจึงตรวจพบ

โดยปกติแพทย์จะสั่งให้ผู้รับการตรวจเพ็ทสแกนงดอาหารเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ หากเป็นคนไข้โรคหัวใจแพทย์จะให้งดคาเฟอีนอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจ

หลังการฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าเส้นเลือด สารกัมมันตรังสีจะใช้เวลา 45-60 นาที ในการไหลเวียนไปทั่วร่างกาย และซึมเข้าสู่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่จะตรวจ โดยการสแกนจะกินเวลาอีก 30-60 นาที ทั้งนี้ ผู้รับการตรวจจะต้องอยู่นิ่งๆ ตลอดเวลาเพราะการเคลื่อนไหวจะทำให้ผลการตรวจบิดเบือนได้

บางกรณีอาจมีการทดสอบเพิ่มและมีการย้อมสี โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต้องการตรวจ ซึ่งเวลาที่ใช้ในการตรวจทั้งหมดจะอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง

เนื่องจากการตรวจเพ็ทสแกนมีการใช้รังสีค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อร่างกาย ยกเว้นกรณีหญิงมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมอาจมีผลต่อทารกได้

แหล่งข้อมูล

  1. Positron Emission Tomography (PET Scan). http://my.clevelandclinic.org/services/imaging-institute/imaging-services/hic-pet-scan [2015, August 4].
  2. Integrated PET-CT Scan. http://www.cancer.net/navigating-cancer-care/diagnosing-cancer/tests-and-procedures/integrated-pet-ct-scan [2015, August 4].