กรดเรทิโนอิก (Retinoic acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดเรทิโนอิก (Retinoic acid) เป็นสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีมาจากวิตามินเอ (Vitamin A) ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง กรดเรทิโนอิกไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในไขมัน จึงสามารถสะสมในร่างกายได้ง่ายเช่น เดียวกันกับ วิตามิน ดี อี และ เค กรดเรทิโนอิกสามารถถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะและอุจจาระภายใน 0.5 - 2 ชั่วโมงหลังเข้าสู่ร่างกาย แต่บางส่วนจะยังสะสมในร่างกายเพื่อนำไป ใช้ประโยชน์ และจะถูกกำจัดออกในเวลาต่อมา

กรดเรทิโนอิก (All-Trans-Retinoic acid) ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดเอ็ม 3 (Acute promyelocytic leukemia) โดยกลไกการออกฤทธิ์ช่วยให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดที่ปกติออกมา นอกจากนี้ยังมีการนำมาผลิตในรูปยาใช้ภายนอกทารักษาสิว ช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่ ด้วยเป็นกรดวิตามินที่มีฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของร่างกาย การใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกรดเรทิโนอิก จึงต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น

กรดเรทิโนอิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กรดเรทิโนอิก

กรดเรทิโนอิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน (Acute promyelocytic leukemia)
  • รักษาสิว รอยด่างดำบนผิวหนัง และช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่

กรดเรทิโนอิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กรดเรทิโนอิกมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ของผิวในชั้นอิพิทีเรียล/เยื่อบุผิว (Epitherial) นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์กดการสร้างและป้องกันการสร้างโคมิโดน (Comedone: สิวอุดตัน) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวทั่วไป อีกกลไกหนึ่งของกรดเรติโนอิกคือ จะไปยับยั้งการลุกลามของมะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยช่วยลดปริมาณการเกิดเม็ดเลือดขาวชนิดที่ไม่สมบูรณ์หรือที่ผิดปกติ และสนับสนุนไขกระดูกให้ผลิตเม็ดเลือดที่ปกติ ขึ้นมาทดแทน

กรดเรทิโนอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กรดเรทิโนอิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาครีม ขนาดความเข้มข้น 0.01%, 0.025%, 0.05%, และ 0.1%

กรดเรทิโนอิกมีขนาดรับประทาน/วิธีใช้อย่างไร?

กรดเรทิโนอิกมีขนาดรับประทาน/วิธีใช้ เช่น

ก. ยารับประทาน: เช่น สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acutepromyelocytic leukemia) ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก คำนวณโดยให้ยา 45 มิลลิกรัม/พื้นที่ร่าง กาย 1 ตารางเมตร/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง เวลาของการให้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และควรรับประทานยาพร้อมอาหาร

ข. ยาทารักษาสิว: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ยาขนาดความเข้มข้น 0.01 - 0.1% ทาบางๆ วันละ 1 - 2 ครั้ง ในบริเวณที่เป็นสิว โดยก่อนทายาต้องทำความสะอาดผิวให้ปราศจากความมันและอยู่ในสภาพที่แห้ง
  • เด็ก: การใช้ยาต้องโดยคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ค. ยาทาสำหรับรักษารอยด่างดำ รอยเหี่ยวย่นอันมีสาเหตุจากแสงแดด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ล้างหน้าด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง ทิ้งไว้ 20 - 30 นาที จากนั้นทายาขนาดความเข้มข้น 0.02 - 0.05% วันละ 1 ครั้งก่อนนอน อาจต้องใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างต่ำจึงจะเห็นผลการรักษา
  • เด็ก: กรณีนี้ยังไม่มีรายงานการใช้ยาทานี้ในเด็ก เนื่องจากภาวะดังกล่าวไม่พบในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดเรทิโนอิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากรดเรทิโนอิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆหรืออาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากรดเรทิโนอิกหรือลืมทายานี้ สามารถรับประทานหรือทายานี้เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาหรือการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กรดเรทิโนอิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กรดเรทิโนอิกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) เช่น

ก. สำหรับยาทา: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น

  • มีอาการระคายเคืองกับผิวหนัง
  • ผิวหนังบวม
  • แพ้แสงแดดได้ง่าย
  • อาจเกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้ชั่วคราว

ข. สำหรับยาชนิดรับประทาน: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น

  • อุณหภูมิของร่างกายต่ำ
  • มีภาวะติดชื้อ
  • วิงเวียน
  • วิตกกังวล
  • ผิวแห้ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • เบื่ออาหาร
  • เหงื่อออกมาก
  • มีผื่นคัน
  • เจ็บกระดูก
  • การมองเห็นภาพแย่ลง
  • มีความผิดปกติทางเม็ดเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงหัวใจหยุดเต้น อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

มีข้อควรระวังการใช้กรดเรทิโนอิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กรดเรทิโนอิก ดังนี้

  • ห้ามใช้กรดเรทิโนอิกกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะผิวแห้งไหม้จากแสงแดด
  • ระวังการใช้ยาชนิดทาภายนอกนี้ร่วมกับสบู่หรือสารที่มีฤทธิ์ในการกัดผิวหนัง เช่น กรดมะนาว แอลกอฮอล์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้เลี่ยงการโดนแสงแดดหรืออากาศเย็นจัด
  • การใช้ยาชนิดรับประทาน ควรต้องเฝ้าระวังความเสียหายต่อตับและไต
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดเรทิโนอิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดเรทิโนอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

กรดเรทิโนอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้กรดเรทิโนอิกร่วมกับยาทาสำหรับปลูกผม เช่นยา Minoxidil สามารถทำให้ร่างกายดูดซึมยา Minoxidil ได้มากยิ่งขึ้น จนอาจก่อผลข้างเคียงจากยาปลูกผมได้ (เช่น ผิวที่สัมผัสยาปลูกผม บวม แดง ระคายเคือง และ/หรือมีอาการทั่วไป เช่น ขึ้นผื่น เป็นลม วิงเวียน หัวใจเต้นผิด ปกติ)
  • การใช้กรดเรทิโนอิกร่วมกับยาทารักษาสิวหรือโรคทางผิวหนังที่มีส่วนผสมของกำมะถัน, Resorcinol, Benzoyl peroxide, และ/หรือ Salicylic acid สามารถทำให้ผิวหนังบริเวณที่ใช้ยา มีการลอกและผลัดผิวได้มากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ผิวเกิดการอักเสบได้
  • การใช้กรดเรทิโนอิกร่วมกับยาต่างๆหลายกลุ่ม เช่นยา Thiazides, Tetracyclines, Fluoro quinolone, Phenothiazines และ Sulfonamides สามารถทำให้ผิวหนังแพ้แสงแดดได้มากขึ้น หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

*****หมายเหตุ: จะเห็นได้ว่ายากรดเรทิโนอิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆได้หลายชนิด ดังนั้นการใช้ยานี้จึงจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น ไม่ควรซื้อยาใช้เอง

ควรเก็บรักษากรดเรทิโนอิกอย่างไร?

ควรเก็บรักษากรดเรทิโนอิก เช่น

  • ยากรดเรทิโนอิกชนิดรับประทาน ควรเก็บที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยากรดเรทิโนอิก ทาผิวชนิดโลชั่น/เจล ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส
  • ยากรดเรทิโนอิกชนิดครีม ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
  • นอกจากนั้น ยากรดเรทิโนอิกทุกรูปแบบ ควรเก็บดังนี้
    • ให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

กรดเรทิโนอิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดเรทิโนอิก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
 Renova (เรโนวา)  Janssen-Cilag
 Retacnyl (เรแท็กนิล)  Galderma
 Retin-A (เรทิน-เอ)  Janssen-Cliag
 Stieva-A (สตีวา-เอ)  Stiefel
 Tina-A (ทีนา-เอ)  2M (Med-Maker)
 Vesanoid (เวซานอยด์)  Roche

บรรณานุกรม

1. http://www.drugs.com/ppa/tretinoin-trans-retinoic-acid-vitamin-a-acid.html [2020,Jan18]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Retinoic_acid [2020,Jan18]
3. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=tretinoin [2020,Jan18]
4. http://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Stieva-A/ [2020,Jan18]
5. https://www.mims.com/USA/drug/info/tretinoin/?type=full&mtype=generic [2020,Jan18]
6. https://www.mims.com/Malaysia/drug/info/Vesanoid/ [2020,Jan18]