ไนเฟดิปีน (Nifedipine) หรือ แอดาแลท (Adalat)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) เป็นยาที่นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานแล้ว ชื่อการ ค้าที่คุ้นเคยในหลายประเทศคือ แอดาแลท (Adalat) จัดเป็นยาในกลุ่มของ Calcium channel blocker ข้อบ่งใช้อื่นของยาไนเฟดิปีนที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคยังมีอีก อาทิ ลดอาการปวดเกร็งของหลอดอาหารอันมีสาเหตุจากมะเร็งหลอดอาหาร และผู้ป่วยที่ปวดด้วยอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในโรคบาดทะยัก นอกจากนี้ยังใช้ชะลอการคลอดในหญิงที่มีอายุครรภ์ไม่ครบกำหนด

ยาไนเฟดิปีน ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาของประเทศเยอรมัน และประสบความสำเร็จภายในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็น ไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของไนเฟดิปีนพบว่า ยาสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ 45 - 56% จากนั้นจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้ถึง 92 - 98% ไนเฟดิปีนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจากระบบทางเดินอาหารและตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาไนเฟดิปีนเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน สำหรับประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขระบุให้ไนเฟดิปีนเป็นยาอันตราย การใช้ยาที่ปลอดภัยจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาไนเฟดิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไนเฟดิปีน

ยาไนเฟดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่มีความรุนแรงในระดับต่ำถึงกลาง
  • รักษาอาการโรคของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงบริเวณหัวใจ
  • ป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด

ยาไนเฟดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไนเฟดิปีนคือ ตัวยาจะป้องกันการซึมผ่านของประจุ (Ion, อะตอมที่มีประจุไฟฟ้า) แคลเซียมเข้าไปในเซลล์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดแดง และยังลดความต้านทานภายในหลอดเลือดแดง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ไน เฟดิปีนมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาไนเฟดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนเฟดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาด 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ด ขนาด 10, 20 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลเจล ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/แคปซูล

ยาไนเฟดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไนเฟดิปีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ใช้ยาชนิดออกฤทธิ์ได้เนิ่นนาน รับประทาน 10 - 40 มิลลิกรัมเช้า - เย็น หรือ 20 - 90 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 200 - 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 90 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 - 18 ปี: รับประทาน 5 - 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 90 มิลลิกรัม/วัน
  • ในผู้สูงอายุ: แพทย์จะปรับขนาดรับประทานลงมาตามความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล

ข. สำหรับรักษาอาการหัวใจขาดเลือด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ใช้เป็นยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน รับประทาน 10 - 40 มิลลิกรัมเช้า - เย็น หรือ 30 - 90 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี: รับประทาน 200 - 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 90 มิลลิกรัม/วัน
  • ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ช่วงกระเพาะอาหารว่าง คือ ประมาณ 1 ชม.ก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไนเฟดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนเฟดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนเฟดิปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไนเฟดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนเฟดิปีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการบวมตามปลายมือและเท้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ใจสั่น
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ใบหน้าแดง
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • ปวดลูกตา
  • ซึมเศร้า
  • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • สั่น
  • มีไข้
  • อาจมีอาการเจ็บหน้าอกด้วยมีภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยในช่วงต้นๆของการใช้ยา
  • อาจมีผื่นคัน
  • ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนเฟดิปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนเฟดิปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะช็อกด้วยโรคหัวใจ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ระวังการเกิด ความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ระวังการใช้ยานี้ใน สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยเบาหวาน
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก (Ischaemic pain)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนเฟดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณ และให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไนเฟดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนเฟดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไนเฟดิปีนร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม (Magnesium) เช่น ยา Magnesium hydroxide (ยาแก้ท้องผูก) อาจทำให้ร่างกายได้รับพิษจาก Magnesium มากขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไนเฟดิปีนร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม (Calcium) เช่นยา Calcium carbonate (ยาเสริมอาหารป้องกันโรคกระดูกพรุน) อาจทำให้ฤทธิ์ของการรักษาผู้ป่วยด้วยยาไนเฟดิปีนด้อยประสิทธิภาพลงไป หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไนเฟดิปีนร่วมกับยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Quinidine อาจทำให้ ไนเฟดิปีนในกระแสเลือดมีระดับสูงขึ้น และทำให้ Quinidine มีระดับต่ำลง และส่งผลต่อการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายาไนเฟดิปีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไนเฟดิปีน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิด ชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไนเฟดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนเฟดิปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Adalat CR (แอดาแลท ซีอาร์) Bayer HealthCare Pharma
Adipine (แอดิปีน) Patar Lab
Calcigard Retard (แคลซิการ์ด รีทาร์ด) Torrent
Depin-E Retard (ดิปิน-อี รีทาร์ด) Zydus Cadila
Nelapine/Nelapine SR (เนลาปีน/เนลาปีน เอสอาร์) Berlin Pharm
Nicardia (นิคาร์เดีย) J.B. Chemicals
Nicardia CD (นิคาร์เดีย ซีดี) Unique
Nicardia Retard (นิคาร์เดีย รีทาร์ด) J.B. Chemicals
Nifedi-Denk 20 Retard (ไนเฟดิ-เดง 20 รีทาร์ด) E Denk
Nifedipin T20 Stada Retard (ไนเฟดิปิน ที20 สตาดา รีทาร์ด) Stada
Nifelat (ไนเฟเลท) Remedica
Nifelat Q (ไนเฟเลท คิว) Remedica

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Nifedipine[2020,April 25]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fnelapine-nelapine%2520sr%2f%3ftype%3dbrief[2020,April 25]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=nifedipine[2020,April 25]
4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fAdalat%2520CR%2f%3ftype%3dfull#Indications[2020,April 25]
5 http://www.drugs.com/cdi/nifedipine.html[2020,April 25]