ไทฟอยด์ (ตอนที่ 1)

ไทฟอยด์-1

      

      นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคไข้ไทฟอยด์เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella Typhi) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะและหนาวสั่น เบื่ออาหาร ท้องอืด ปวดท้องอยู่หลายวันจึงจะถ่าย

      ลักษณะอุจจาระเหลว มีกลิ่นเหม็น ม้ามโต และอาจมีภาวะที่เลือดแข็งตัวกระจายไปทั่ว มีเลือดออกในลำไส้ หรือลำไส้ทะลุได้ สามารถติดเชื้อนี้ได้ง่ายจากการบริโภคอาหาร หรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยปนเปื้อนอุจจาระ หรือปัสสาวะที่มีเชื้อนี้

      นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขในบางประเทศที่ระบบสุขาภิบาลยังไม่ดีพอ ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตปีละหลายราย สำหรับประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยอยู่บ้าง แต่สามารถให้การรักษาได้จึงไม่มีรายงานการเสียชีวิต

      นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค คือ การให้ความรู้แก่คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ดูแลผู้ป่วยและเด็กในเรื่องสุขนิสัยในการรักษาความสะอาด เน้นความสำคัญของการล้างมือ

      และควรให้วัคซีนแก่ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ และสมาชิกของครอบครัวผู้เป็นพาหะ รวมทั้งผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือการสุขาภิบาลไม่ดี

      ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ที่ใช้ในเด็กแล้ว แต่ยังมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วไม่กี่ชนิด ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคนที่มีแนวโน้มจะนำมาขึ้นทะเบียน เพื่อการจำหน่ายในเร็วๆ นี้

      โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Salmonella typhi เป็นโรคที่พบยากในประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี โรคไข้ไทฟอยด์ยังเป็นปัญหาที่รุนแรงในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเด็ก

      โรคไข้ไทฟอยด์เป็นโรคอันตราย แพร่เชื้อได้ง่าย ในแต่ละปีมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 26 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2 แสนคน โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้

      โรคไข้ไทฟอยด์แพร่เชื้อผ่านทางอาหารและน้ำ หรือการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยเชื้อจะมีอายุอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ในน้ำและสิ่งปฏิกูลแห้ง

      เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะแพร่ไปตามกระแสเลือดไปสู่ตับ ม้าม และไขกระดูก และจะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนเชื้ออย่างมากมายในลำไส้ (Intestinal tract)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. WHO-กรมวิทย์ จัดติว จนท.คุมคุณภาพ “วัคซีนไทฟอยด์” สำหรับเด็ก. https://mgronline.com/qol/detail/9620000007107 [2018, February 14].
  2. Typhoid fever. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/typhoid-fever/symptoms-causes/syc-20378661 [2018, February 14].
  3. Typhoid Fever. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/typhoid-fever#1 [2018, February 14].