ไตอะกาไบน์ (Tiagabine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไตอะกาไบน์ (Tiagabine หรือ Tiagabine hydrochloride) เป็นหนึ่งในกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการชัก/ยากันชัก (Anticonvulsant medication) ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ที่ประเทศเดนมาร์ก กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ที่ใช้ต้านการชักในผู้ป่วยยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่พอจะมีข้อสรุปจากการใช้ยานี้ในสัตว์ทดลองแล้วพบว่า ยานี้จะช่วยยับยั้งการดูดกลับของสารกาบา(GABA) ที่จุดประสานระหว่างเซลล์ประสาท (Presynaptic neurons) ในสมอง ทำให้สารกาบาในสมองเพิ่มมากขึ้นและเพียงพอที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดการกระตุ้นอาการชัก

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาไตอะกาไบน์จะเป็นยาชนิดรับประทาน ด้วยตัวยาไตอะกาไบน์มีการดูดซึมได้ค่อนข้างดีจากระบบทางเดินอาหารโดยสามารถถูกดูดซึมกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประ มาณ 90 - 95% ปริมาณยาประมาณ 96% ในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนก่อนที่จะถูกส่งไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

สรรพคุณทางคลินิกของยาไตอะกาไบน์ด้านอื่นนอกจากเป็นยากันชัก เท่าที่มีรายงานการใช้คือ ช่วยบำบัดอาการวิตกกังวล และอาการปวดของเส้นประสาท

ผลข้างเคียงของยาไตอะกาไบน์ที่เด่นชัดจะเป็นเรื่องอาการวิงเวียน ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะสังเกตได้จากมีอาการเซื่องซึม อาการชักที่อาจเกิดซ้ำได้หลายครั้ง (Single หรือ Multiple seizures) มีภาวะโคม่า รู้สึกสับสน ตัวสั่น การเหยียดแขน-ขาผิดปกติ ประสาทหลอน นอกจากนี้ยังอาจพบว่า เกิดการกดการทำงานของระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย (หายใจเบา ช้า ตื้น) หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ซึ่งการจะบำบัดรักษาให้อาการจากผลข้างเคียงเหล่านี้ดีขึ้นจะต้องพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

และหากผู้ป่วยหยุดการใช้ยาไตอะกาไบน์ทันทีอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะชักขึ้นมาได้อีกเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดการรับประทานเป็นระยะๆจนถึงขั้นหยุดการใช้ยา ทั้งนี้จะขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ผู้ป่วยบางกลุ่มอย่างสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ในทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้มายืนยันถึงประโยชน์ที่จะได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจึงจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้ยานี้

ผู้ป่วยที่แพทย์ได้ตรวจคัดกรองและมีการสั่งจ่ายยาไตอะกาไบน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าอาการชักของผู้ป่วยไม่ทุเลาหรือแย่ลงกว่าเดิม จะต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วไม่ต้องรอถึงวันนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ในการรับประทานยาไตอะกาไบน์ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะก่อให้เกิดอาการง่วงนอนเป็นอย่างมากตามมา ยาไตอะกาไบน์เหมาะที่จะรับประทานพร้อมอาหาร โดยขนาดการรับประทานที่เหมาะสมปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ไตอะกาไบน์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไตอะกาไบน์

ยาไตอะกาไบน์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการชัก (Seizures)

ไตอะกาไบน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไตอะกาไบน์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะช่วยเพิ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า กาบา (GABA/Gamma aminobutyric acid) จากตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทกาบาจากจุดประสานระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้ปริมาณสารกาบามีเพิ่มมากอย่างเพียงพอที่จะยับยั้งกระแสประสาทที่คอยกระตุ้นการชัก ส่งผลให้เกิดสมดุลทางเคมีของสมองอย่างเหมาะสม และเกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ไตอะกาไบน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไตอะกาไบน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัม /เม็ด

ไตอะกาไบน์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไตอะกาไบน์มีขนาดรับประทานเช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป:

  • อาทิตย์แรกของการใช้ยา: รับประทาน 4 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • อาทิตย์ที่สอง: รับประทาน 8 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเช้า - เย็น
  • อาทิตย์ที่สาม: รับประทาน 12 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเช้า - กลางวัน - เย็น
  • อาทิตย์ที่สี่: แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 16 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเช้า - เย็น หรือจะแบ่งเป็นเช้า - กลางวัน - เย็น - ก่อนนอนก็ได้
  • อาทิตย์ที่ห้า: แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทาน 20 - 24 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเช้า - เย็น หรือเช้า - กลางวัน - เย็น - ก่อนนอน
  • อาทิตย์ที่หก: แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทาน 24 - 32 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเช้า - เย็น หรือเช้า - กลางวัน - เย็น - ก่อนนอน และ
  • ขนาดที่ใช้คงระดับของการรักษาต่อจากนี้ไปอยู่ที่ 32 - 56 มิลลิกรัม/วัน

ข. เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา: ขนาดการใช้ยากับเด็กกลุ่มอายุนี้ยังมิได้มีการศึกษาความปลอดภัยของการใช้ยา การใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง

  • แพทย์จะเป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยานี้ให้กับผู้ป่วยเอง และระยะเวลาการรักษาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไตอะกาไบน์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตอะกาไบน์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไตอะกาไบน์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไตอะกาไบน์ตรงเวลา เพราะการลืมรับประทานยาบ่อยหลายครั้งอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการชักขึ้นได้

ไตอะกาไบน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไตอะกาไบน์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระสับกระส่าย การครองสติลำบาก ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดแผลในปาก
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น ความชัดเจนของการมองเห็นลดลง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีผื่นคัน รวมถึงภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีอาการท่อปัสสาวะอักเสบ
  • ต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)

มีข้อควรระวังการใช้ไตอะกาไบน์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาตอะกาไบน์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี โดยไม่มีคำ สั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • หากใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยานี้เช่น มีอาการแน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว มีอาการบวมตามร่างกาย แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไตอะกาไบน์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไตอะกาไบน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไตอะกาไบน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไตอะกาไบน์ร่วมกับยา Propoxyphene อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไตอะกาไบน์ร่วมกับยา Sodium oxybate อาจทำให้มีความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน ง่วงนอน การหายใจช้าและแผ่วลง กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไตอะกาไบน์ร่วมกับยา Buprenorphine อาจนำมาซึ่งภาวะกดการทำงานของประสาทส่วนกลางที่ส่งผลต่อการหายใจ เกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไตอะกาไบน์อย่างไร?

ควรเก็บยาไตอะกาไบน์ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไตอะกาไบน์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไตอะกาไบน์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Gabitril (กาบิทริล) Cephalon, Inc.

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/pro/tiagabine.html [2016,April16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Tiagabine [2016,April16]
  3. http://www.drugs.com/tiagabine-images.html [2016,April16]
  4. http://www.mims.com/India/drug/info/tiagabine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2016,April16]
  5. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/020646s016lbl.pdf [2016,April16]