โรคดึงผมตนเอง (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โรคดึงผมตนเอง-3

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบชัด อาจเป็นผลจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ความผิดปกติของสมอง ส่วนปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่

  • ประวัติครอบครัว – พันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคนี้
  • อายุ – โรคนี้มักเป็นก่อนหรือระหว่างที่เป็นวัยรุ่น ที่อายุประมาณ 10-13 ปี และมักเป็นไปตลอดชีวิต
  • ความเครียด
  • การขาดสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง
  • มีความผิดปกติด้านอื่น – เช่น เป็นโรคซึมเศร้าหดหู่ วิตกกังวล หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder = OCD)

แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรงมาก แต่โรคดึงผมตนเองก็สามารถทำให้เกิดผลกระทบด้านลบหลักๆ ดังนี้

  • รู้สึกเป็นทุกข์ อาย อัปยศอดสู (Humiliation) อึดอัดใจ (Embarrassment) ความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) ซึมเศร้าหดหู่ (Depression) วิตกกังวล (Anxiety)
  • มีปัญหาในการทำงานและสังคม โดยผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะพลาดโอกาสในการทำงานและหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคม ชอบใส่วิกหรือใส่ขนตาปลอม และบางคนไม่อยากจะใกล้ชิดผู้อื่นเพราะกลัวว่าผู้อื่นจะรู้ถึงสภาพที่ตนเองเป็น
  • ผิวหนังและผมถูกทำลาย อาจติดเชื้อบริเวณที่ดึงหรือผมไม่ขึ้นบริเวณนั้นๆ อีกเลย (Alopecia)
  • เป็นโรคก้อนขน (Hairball / Trichobezoar) เพราะการกินเส้นผมจะทำให้ปริมาณขนที่สะสมในกระเพาะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการบีบตัวของกระเพาะอาหารเป็นส่วนช่วยคลึงเคล้าปั้นก้อนขนให้ค่อยๆ เกาะพันกันและขยายขึ้น ตลอดจนมีลักษณะเป็นก้อนกลม แฮร์บอลล์ที่มีขนาดโตขึ้นจะคับเต็มกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการอาเจียนบ่อยๆ น้ำหนักลด ลำไส้อุดตัน และแม้แต่เสียชีวิต

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคดึงผมตนเองหรือไม่ ทำได้ด้วยการ

  • ตรวจสอบว่าผมร่วงขนาดไหน
  • ถามคำถามและคุยกันเรื่องผมร่วง
  • ขจัดสาเหตุอื่นที่อาจเป็นปัญหาของการร่วง
  • ระบุถึงปัญหาสภาพร่างกายและจิตใจที่อาจเกี่ยวข้องกับการร่วง
  • เทียบกับหลักเณฑ์ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชของสหรัฐอเมริกา

สำหรับการรักษาอาจทำได้โดยใช้

  • การรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด ที่เรียกว่า Habit reversal training โดยสอนให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันอาการขณะเกิดความอยากจะดึงและควรทำพฤติกรรมใดทดแทน เช่น อาจจะกำหมัดให้แน่นๆ หรือเปลี่ยนทิศทางของมือจากการจับผมไปจับหูแทน
  • การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive therapy)
  • การรักษาด้วยการยอมรับและการให้สัญญา (Acceptance and commitment therapy = ACT)

แม้ว่า FDA จะยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ใช้ยาตัวใดเป็นพิเศษในการรักษาโรคนี้ แต่ก็มียาบางตัวที่อาจใช้ช่วยควบคุมอาการได้ เช่น ยา Clomipramine ยา N-acetylcysteine และยา Olanzapine อย่างไรก็ดี ต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Trichotillomania (hair-pulling disorder). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trichotillomania/home/ovc-20268509 [2017, August 20].
  2. Trichotillomania. http://www.webmd.com/anxiety-panic/guide/trichotillomania#1 [2017, August 20].
  3. Trichotillomania. http://www.nhs.uk/conditions/trichotillomania/Pages/introduction.aspx [2017, August 20].