โดรเนดาโรน (Dronedarone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโดรเนดาโรน(Dronedarone หรือ Dronedarone hydrochloride) เป็นยาบำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเต้นถี่/เต้นเร็ว หรืออาการทางหัวใจในผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากเหตุไฟฟ้าช็อต ยานี้เป็นที่ยอมรับและขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ เมื่อปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นอกเหนือจากยา Amiodarone ในการบำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

นักวิทยาศาสตร์ จัดให้ยาโดรเนดาโรนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานหลายกระบวนการในร่างกาย (Multiple blocker) เช่น

  • ยับยั้งกระบวนการทำงานของโซเดียมและโพแทสเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่าโซเดียม-โพแทสเซียมแชนแนล(Sodium-Potassium channel) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำงาน/การเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ลดการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ (AV conduction, Atrioventricular conduction)
  • ยับยั้งกระบวนการทำงานของแคลเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า แคลเซียมแชนแนล(Calcium channel)ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจเช่นกัน
  • ปิดกั้นบริเวณตัวรับ(Receptor)ในกล้ามเนื้อหัวใจที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของหัวใจ เช่นตัวรับที่ชื่อ Beta1-receptor และ Alpha1-receptor

ยาโดรเนดาโรนมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประมาณ 15% จากนั้นตัวยานี้จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้มากกว่า 98% ตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยาโดรเนดาโรนอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 13–19 ชั่วโมง ในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ทั้งนี้ มีผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาโดรเนดาโรน เช่น

  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่รุนแรง ที่ไม่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้ด้วยการใช้ยารักษา(Permanent atrial fibrillation)
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง (Severe heart failure,class IV)
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อหัวใจที่ควบคุมการเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจ (Sick sinus syndrome)
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับในระยะรุนแรง
  • ผู้ที่มีประวัติเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ในการทำงานของตับ หรือของปอดหลังจากได้รับยา Amiodarone
  • สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดา
  • ผู้ที่รับประทานยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตัวอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว เช่น Amiodarone, Dofetilide, Flecainide, Sotalol, หรือใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น Itraconazole, Ketoconazole, Voriconazole, รวมถึงยาอีกหลายตัวดังต่อไปนี้ เช่น Carbamazepine, Citalopram, Clozapine, Cobicistat, Cyclosporine, Fingolimod, Halofantrine, Haloperidol, Phenytoin, Clarithromycin, Erythromycin, Maprotiline, Nefazodone, Nilotinib, Ondansetron, Paliperidone, Phenobarbital, Thioridazine, Primidone, Boceprevir, Ritonavir, Quetiapine, Rifampin, St. John's wort, Telithromycin, Tetrabenazine, Amitriptyline, Vardenafil

ยาโดรเนดาโรนมักจะถูกใช้กับผู้ป่วยสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากที่สุด และไม่เหมาะจะใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา การให้ยานี้กับผู้ป่วย มักจะเป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น โดยรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมตัวยา การรับประทานยานี้จะต้องอาศัยความต่อเนื่องสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์

ระหว่างที่ได้รับยาโดรเนดาโรน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด ด้วยยานี้จะทำให้ผิวหนังไว/ตอบสนองต่อแสงแดดมากกว่าปกติ(ผื่นแพ้แสงแดด) และต้องเฝ้าระวังการทำงานของตับว่าผิดปกติหรือไม่ โดยสังเกตจากผิวหนังและตาว่าเปลี่ยนไปมีสีเหลืองเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าพบอาการดังกล่าว ต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด

นอกจากนั้น ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมาย เพื่อตรวจสอบระดับสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ตรวจเลือดดูการทำงานของไต เป็นต้น ทั้งนี้ตามคำแนะนำของแพทย์

ในประเทศไทย ยาโดรเนดาโรนถูกจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ การจะใช้ยานี้ต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น และสามารถพบเห็นการใช้ยาโดรเนดาโรนได้ตามสถานพยาบาล อาจมีจำหน่ายตามร้านขายยาบางแห่งเท่านั้น

อนึ่ง กรณีผู้ป่วยต้องการทราบรายละเอียดขอยาโดรเนดาโรนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

โดรเนดาโรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โดรเนดาโรน

ยาโดรเนดาโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด Atrial fibrillation/AF
  • บำบัดรักษาภาวะหัวใจเต้นถี่/เต้นรัว ชนิด Atrial flutter
  • ใช้ป้องกันภาวะหัวใจห้องล่างเต้นช้า

โดรเนดาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโดรเนดาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งกระบวนการส่งผ่านประจุไฟฟ้าของเกลือแร่ในกล้ามเนื้อหัวใจ อาทิเช่น กระบวนการ Sodium channel, กระบวนการ Potassium channel, ส่งผลให้เพิ่มระยะเวลาในการเกิดศักย์ไฟฟ้าบริเวณเนื้อเยื่อหัวใจที่เกี่ยวข้องกับการส่งคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(Sinus node) และยังลดกระบวนการ AV conductionในการทำงานร่วมกับ Sinus node นอกจากนี้ ยาโดรเนดาโรนยังยับยั้งการขนถ่ายประจุเกลือแคลเซียมหรือที่เรียกว่า Calcium channel ร่วมกับรบกวนบริเวณตัวรับของหลอดเลือดหัวใจที่มีชื่อว่า Beta1-receptor จากกลไกที่ซับซ้อนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โดรเนดาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดรเนดาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 400 มิลลิกรัม/เม็ด

โดรเนดาโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโดรเนดาโรนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น พร้อม หรือ หลังอาหาร
  • เด็ก และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานในผู้ป่วย โรคไต หรือในผู้ป่วยโรคตับ ที่มีอาการไม่รุนแรง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจ ECG , ตับ, และไต โดยมารับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดรเนดาโรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่าง อย่างเช่น มีภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ รวมถึงกำลัง กินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดรเนดาโรน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ยาโดรเนดาโรน เป็นยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ต้องรับประทานต่อเนื่องสักระยะหนึ่งตามแพทย์สั่ง ซึ่งหากลืมรับประทานยานี้ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โดรเนดาโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดรเนดาโรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นช้า มีความผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
  • ผลต่อไต: เช่น มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดลดต่ำ ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวหนังไวต่อแสงแดด/ผื่นแพ้แสงแดด
  • ผลต่อตับ: เช่น สร้างความเสียหายให้ตับ/ตับอักเสบ ตับวายเฉียบพลัน ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก ปอดอักเสบ เกิดพังผืดในปอด
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

มีข้อควรระวังการใช้โดรเนดาโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดรเนดาโรน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ตับ ชนิดที่เรียกว่า CPY3A4 (Cytochrome P450 3A4, เอนไซม์ทำลายยา) เช่นยา Ciclosporin, Cimetidine, Clarithromycin)
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับน้ำผลไม้/ผลไม้อย่าง เช่น Grapefruit juice
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นได้ ดังนั้นก่อนใช้ยานี้ แพทย์มักจะตรวจสอบ ระดับเกลือโพแทสเซียม และเกลือแมกนีเซียมในเลือดก่อนเสมอ
  • ระหว่างใช้ยานี้ ควรระวังการเกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะตับวาย
  • มารับการตรวจ ECG, การตรวจเลือดดู การทำงานของ ตับ – ไต ทุกๆ 3 เดือน หรือตามแพทย์สั่ง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดรเนดาโรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และ สมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้อง ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โดรเนดาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดรเนดาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโดรเนดาโรนร่วมกับยา Amprenavir, Atazanavir, Ritonavir, Darunavir, Nelfinavir, ด้วยยาเหล่านี้จะทำให้ระดับยาโดรเนดาโรนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดรเนดาโรนร่วมกับยา Hydrocodone ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงบางอย่างเพิ่มมากขึ้น เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ขาดสมาธิ ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม ไปจนถึงขั้นโคม่า กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโดรเนดาโรนร่วมกับยา Atenolol อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Atenolol มากขึ้น อย่างเช่น ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโดรเนดาโรนร่วมกับยา Hydrochlorothiazide จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น ด้วยยา Hydrochlorothiazide ส่งผลต่อระดับเกลือแมกนีเซียมและเกลือโพแตทเซียมในกระแสเลือด การใช้ยาร่วมกัน ผู้ป่วยต้องได้รับการควบคุมสมดุลของเกลือแร่ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมจากแพทย์ร่วมด้วย

ควรเก็บรักษาโดรเนดาโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาโดรเนดาโรนภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โดรเนดาโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดรเนดาโรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Multaq (มัลแท็ก)sanofi-aventis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dronedarone [2016,Nov5]
  2. http://www.esciencecentral.org/journals/dronedarone-who-when-why-and-how-should-it-be-prescribed-and-monitored-2329-6887-1000169.php?aid=58629 [2016,Nov5]
  3. https://www.drugs.com/cdi/dronedarone.html [2016,Nov5]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dronedarone/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov5]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/multaq/?type=brief [2016,Nov5]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/dronedarone-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov5]