แอลกอฮอล์ 90% (Alcohol 90%)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำยาแอลกอฮอล์/แอลกอฮอล์ (Alcohol) ที่นำมาเป็นตัวยาหรือสารออกฤทธิ์หลักๆทางเภสัชภัณฑ์จะมี 2 ชนิดที่พบเห็นในท้องตลาดคือ น้ำยาเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol หรือ Ethanol ที่สูตรทางเคมีคือ C2H5OH) และ ไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol หรือ Isopropanol alcohol หรือ Dimethyl carbinol ที่สูตรเคมีคือ C3H7OH) โดยแอลกอฮอล์ 90% หมายถึงสารละลายที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ 90 ส่วน (90%) และน้ำ 10 ส่วน (10%) โดยปริมาตร บางครั้งอาจพบแอลกอฮอล์ 90% ในชื่อทางการค้าว่า Rubbing Alcohol 90% ซึ่งมนุษย์ได้นำแอลกอฮอล์ 90% ทั้ง 2 ชนิดมาใช้ประโยชน์อย่างมากมายที่รวมถึงประโยชน์ทางการแพทย์ด้วยอาทิเช่น

  • ใช้ทำความสะอาดเครื่องมือ อุปกรณ์ ภาชนะต่างๆ
  • เช็ดทำความสะอาดผิวหนังโดยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
  • ใช้ถูล้างทำลายเชื้อโรคที่มือ
  • ใช้ผสมน้ำทำความสะอาดกระจกหน้าต่างโดยใช้หนังสือพิมพ์ช่วยขัดถู
  • ล้างทำความสะอาดสารที่มีลักษณะเหนียวเช่น คราบกาวต่างๆ
  • ใช้ลบรอยนิ้วมือบนโลหะต่างๆ
  • เป็นส่วนผสมในหัวน้ำหอมแล้วฉีดสเปรย์ห้อง
  • กำจัดกลิ่นเช่น กลิ่นรองเท้าโดยใช้แอลกอฮอล์ 90% เช็ดถูในรองเท้า

น้ำยาไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์ 90% เป็นสารประกอบที่มีอันตรายด้วยติดไฟง่าย มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคชนิดต่างๆ สามารถทำลายเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้จึงต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตาหรือรับประทาน เคยมีผู้หลงรับประทานไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์แล้วเกิดการอาเจียนรุนแรงทันที หรือเพียงการสูดดมไอของแอลกอฮอล์ชนิดนี้ก็สามารถก่อให้เกิดอาการวิงเวียนอย่างมากได้เช่นกัน กรณีที่ไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์กระเด็นเข้าตา ต้องล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันทีเป็นเวลา 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ ปกติถ้าต้องการใช้แอลกอฮอล์ชนิดนี้เป็นปริมาณมาก ผู้ใช้มักจะต้องใช้แว่นกันสาร เคมี ถุงมือเฉพาะเพื่อป้องกันผิวหนังสัมผัสกับแอลกอฮอล์นี้โดยตรง และต้องสวมใส่หน้ากากกรองไอของแอลกอฮอล์ชนิดนี้ร่วมด้วย ขณะนำแอลกอฮอล์ชนิดนี้มาใช้ปฏิบัติงาน ต้องหลีกเลี่ยงมิให้ใกล้เปลวไฟหรือแหล่งความร้อนต่างๆเพื่อป้องกันการลุกไหม้จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้

ส่วนน้ำยาเอทานอล 90% หรือเอทิลแอลกอฮอล์ 90% ก็ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายและช่วยทำความสะอาดภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคชนิดต่างๆได้เช่น เดียวกับน้ำยาไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์ 90% แต่เอทานอล 90% เป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่รับประทานได้ซึ่งจะพบเห็นเอทานอลเป็นส่วนประกอบของสุรายี่ห้อต่างๆ ทางคลินิกผู้ผลิตน้ำยาเอทานอล 90% จึงหาวิธีป้องกันคนนำไปรับประทานโดยเติมสีฟ้าและกลิ่นลงไปเพื่อให้เห็นความแตกต่างกับสุรา

หากมองในภาพรวมแอลกอฮอล์/น้ำยาแอลกอฮอล์ 90% จะมีประโยชน์ใช้สอยได้หลากหลายรวมถึงมีราคาสูงกว่าแอลกอฮอล์/น้ำยาแอลกอฮอล์ 70% ด้วยเหตุผลจากความเข้มข้นของแอลกอ ฮอล์ที่ต่างกันนั่นเอง ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง แอลกอฮอล์ 70% ในเว็บ haamor.com

อนึ่งผู้บริโภคควรศึกษารายละเอียดของแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆจากคู่มือการใช้งานหรือจากเอกสารกำกับยาของแอลกอฮอล์แต่ละชนิดก่อนการใช้งานเพื่อได้รับประโยชน์สูงสุดและตรงตามวัตถุประสงค์

แอลกอฮอล์ 90% มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอลกอฮอล์-90

แอลกอฮอล์ 90% มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • เป็นตัวทำละลายของสารเคมีที่ใช้ในห้องทดลอง/ห้องปฏิบัติการ
  • เช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือ อุปกรณ์ ภาชนะต่างๆ
  • เช็ดทำความสะอาดกระจกที่มีคราบสกปรก คราบไขมัน
  • นำไปประยุกต์ใช้ฆ่าเชื้อโรคและแมลงบางชนิดในสวนผลไม้
  • ใช้เพิ่มค่าออกเทน (Octane, ส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมัน) ในน้ำมันเบนซิน(Benzene oil)
  • นำมาเจือจางกับน้ำและใช้ทาผิวหนังบรรเทาอาการคันจากยุงกัด

แอลกอฮอล์ 90% มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ทางเภสัชกรรมแอลกอฮอล์ 90% มีกลไกการออกฤทธิ์เช่น

ก. สำหรับยังยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค: แอลกอฮอล์ 90% จะออกฤทธิ์ทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อสารพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อโรคทำให้เชื้อโรคต่างๆหยุดการเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

ข. สำหรับทำความสะอาดคราบสกปรก: แอลกอฮอล์ 90% มีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายที่สามารถละลายสารประเภทไขมันรวมถึงสารประเภทที่ละลายน้ำได้ ด้วยกลไกนี้จึงทำให้สิ่งสกปรกละลายตัวในแอลกอฮอล์ 90% ได้มากจึงช่วยกำจัดคราบสกปรกได้

แอลกอฮอล์ 90% มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แอลกอฮอล์ 90% มีรูปแบบการจัดจำหน่ายคือ

  • สารละลาย Isopropyl alcohol 90% โดยขนาดบรรจุภัณฑ์ขึ้นกับแต่ละบริษัทผู้ผลิตเช่น 450 ซีซี (CC., Cubic centimetre)/ขวด เป็นต้น
  • สารละลาย Ethyl alcohol 90% โดยขนาดบรรจุภัณฑ์ขึ้นกับแต่ละบริษัทผู้ผลิตเช่น 450 ซีซี (CC., Cubic centimetre)/ขวด เป็นต้น

แอลกอฮอล์ 90% มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบขนาดการบริหาร/การใช้น้ำยาแอลกอฮอล์ 90% ได้จากเอกสารกำ กับยาที่กำกับมากับตัวผลิตภัณฑ์น้ำยาแอลกอฮอล์ 90% ด้วยขนาดการบริหารน้ำยานี้มีหลากหลายขึ้นกับวัตถุประสงค์การใช้/การบริหารรวมทั้งขึ้นกับความบริสุทธิ์ของตัวผลิตภัณฑ์ อย่างแอลกอฮอล์ 90% ที่เป็นชนิดเทคนิคอลเกรด (Technical grade) คือชนิด/เกรดที่มีค่าความบริสุทธิ์ของผลิต ภัณฑ์ตามมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมมักจะถูกนำไปใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ แต่ถ้าเป็นชนิดฟาร์มาซูติคอลเกรด (Pharmaceutical grade) คือชนิด/เกรดที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่าแอลกอฮอล์ชนิดเทคนิคอลเกรดและจะถูกนำมาใช้ทางคลินิก/ทางการแพทย์อย่างเช่น นำมาเจือจางและผลิตเป็นแอลกอฮอล์ 70% สำหรับเช็ดผิวหนังรอบบริเวณบาดแผลหรือทาผิวหนังก่อนทำหัตถการต่างๆ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงน้ำยาแอลกอฮอล์ 90% ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะน้ำยาแอลกอฮอล์ 90% อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

แอลกอฮอล์ 90% มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

แอลกอฮอล์ 90% อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • เมื่อได้กลิ่นหรือสูดดม: อาจเกิดอาการวิงเวียน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าตามมา
  • ผลต่อผิวหนัง: ทำให้ผิวหนังที่สัมผัสตัวน้ำยาฯเกิดภาวะผิวแห้งหรือเกิดผื่นคัน (ผื่นระคายสัมผัส)ขึ้นมาได้

มีข้อควรระวังการใช้แอลกอฮอล์ 90% อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอลกอฮอล์ 90% เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยา/น้ำยานี้
  • ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
  • ห้ามให้เข้าตาหรือใช้หยอดหู
  • ห้ามเทราดบนแผลสดโดยตรง ให้ใช้วิธีเช็ดรอบบาดแผล
  • ห้ามใช้กับทารก เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการเก็บในที่ที่มีเปลวไฟหรือมีประกายไฟรวมถึงในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
  • ปิดภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ 90% ให้แน่นมิดชิดหลังเปิดใช้งานทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมแอลกอฮอล์ 90% ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แอลกอฮอล์ 90% มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

แอลกอฮอล์ 90% ที่เป็นเวชภัณฑ์/น้ำยาที่ใช้ภายนอกร่างกายและใช้เฉพาะที่ จึงยังไม่พบมีรายงานก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาแอลกอฮอล์ 90% อย่างไร?

สามารถเก็บแอลกอฮอล์ 90% ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอลกอฮอล์ 90% มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

น้ำยาแอลกอฮอล์ 90% ที่จำหน่ายในประเทศไทยมียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Rubbing Alcohol 90% (รับบิง แอลกอฮอล์ 90%)Ekalon
Ethanol 90% BP (เอทานอล 90% บีพี)David Craig

บรรณานุกรม

  1. http://mistralni.co.uk/products/rubbing-alcohol-90-isopropyl-alcohol-ipa [2016,May21]
  2. http://www.sciencestuff.com/msds/C1951.pdf [2016,May21]
  3. http://www.davidcraig.net.au/products/excipients/ethanol-90-bp/1238/ [2016,May21]
  4. http://www.dailyfinance.com/2010/12/04/25-alternative-uses-for-rubbing-alcohol/ [2016,May21]