เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเด็ก ตอนที่ 7 (ตอนจบของวัยเด็ก)

โรคของปากมดลูกในเด็กหญิงและเด็กสาวมีอะไรบ้าง?

ความชุกของการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ ในเด็กสาวที่มีเพศสัมพันธ์แล้วนั้นค่อนข้างสูง คือประมาณ 13-38% ถึงแม้ว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจะต่ำ แต่ก็สามารถตรวจพบความผิดปกติทางเซลล์วิทยาได้บ่อยทีเดียวครับ จากการศึกษาในผู้ป่วย 1,664 รายที่มีอายุ 16 ปีหรือน้อยกว่า พบว่ามีอัตราการพบเซลล์ผิดปกติได้ถึง 0.78% โดยทั้งหมดอยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลาง ไม่มีรายใดที่รุนแรงกว่านี้ เช่นเดียวกัน พบว่ามีอัตราการติดเชื้อพยาธิทริโคโมแนสเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับในผู้ใหญ่

สำหรับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ของปากมดลูกนั้น เชื่อกันว่าในเด็กสาวจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องมาจากกระบวนการชีววิทยาพัฒนาการของของปากมดลูกนั่นเอง โดยเมื่อเข้าสู่วัยสาวและระบบอวัยวะสืบพันธุ์มีกระบวนการตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เกิดขึ้น กระบวนการกลายรูปของเซลล์ประจำรูปากมดลูกซึ่งมีชั้นเดียวไปเป็นเซลล์หลายชั้น เหมือนกับเซลล์ประจำปากมดลูกด้านนอกและช่องคลอดก็จะเริ่มเกิดขึ้นด้วยนะครับ บริเวณรอยต่อระหว่างเซลล์ 2 ชนิดนี้ของเด็กสาวจะอยู่บนส่วนนอกของปากมดลูก (ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อตรวจภายใน) เยื่อบุผิวชนิดเซลล์ชั้นเดียวซึ่งปกติแล้วจะอยู่ในรูปากมดลูก ก็จะสามารถมองเห็นได้เป็นบางส่วนที่ด้านนอกของปากมดลูก เราเรียกว่าลักษณะที่พบนี้ว่า “ปากมดลูกปลิ้น” ครับ เยื่อบุผิวเซลล์ชั้นเดียวที่ค่อนข้างอ่อนแอนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการกลายรูปในรูปแบบจากล่างขึ้นบน หรือจากด้านปลายเท้าไปสู่ศีรษะ ให้ผลคือบริเวณรอยต่อระหว่างเซลล์ 2 ชนิดจะดูเหมือนเคลื่อนขึ้นทางด้านบนไปเรื่อยๆ ตลอดวัยเจริญพันธุ์ และมักจะอยู่สูงในรูปากมดลูกเมื่อเข้าสู่วัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) บริเวณที่อยู่ระหว่างรอยต่อเริ่มต้นและรอยต่อปัจจุบัน เรียกว่า “บริเวณกลายรูป” และบริเวณที่มีการเจริญแบ่งตัวกลายรูปอย่างรวดเร็วนี้เอง ก็คือบริเวณที่มีรอยโรคในเยื่อบุผิวและมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นครับ กระบวนการกลายรูปและการพัฒนาของบริเวณกลายรูป มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางเพศ และยังอาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อต่างๆ เช่น คลามัยเดีย (หนองในเทียม) หรือเริมอวัยวะเพศ ด้วย ความเสี่ยงของเด็กสาวต่อการมีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ จากการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่อาจมีความสัมพันธ์กับกระบวนการกลายรูปที่กำลังเกิดขึ้นนี้ หรือกับความแตกต่างของระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) หรือกับชนิดองค์ประกอบของเซลล์ต่างๆในบริเวณกลายรูปเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่นั่นเองครับ การติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม อาจยังคงมีเหลืออยู่ได้แต่ก็เพียงเล็กน้อยครับ

เด็กสาวที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะโดยวิธีแพปสเมียร์ (Pap smear) หรือโดยวิธีการป้ายปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วดูด้วยตาเปล่า (วีไอเอ, VIA, Visual inspection with acetic acid) ก็ได้ อย่างช้าภายในสามปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ไม่ควรช้าไปกว่าอายุ21 ปี ตามคำแนะนำของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งอเมริกา สำหรับสตรีไทยเรา หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลยก็ขอแนะนำให้เริ่มไปตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปีครับ เพราะวัฒนธรรมของเราแตกต่างจากเขา

รอยโรคที่ปากมดลูกชนิดไม่ร้ายแรงซึ่งพบไม่บ่อยก็เคยมีรายงานอยู่บ้าง เช่น หูดหงอนไก่ที่ปากมดลูกในเด็กหญิง เนื้องอกมุลเลอเรียน (Mullerian tumor) ที่ปากมดลูกในเด็กหญิงอายุ 4 ขวบ เป็นต้นครับ

มะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงและในเด็กสาวนั้นพบได้ยาก ข้อมูลจากรายงานเก่าๆบ่งชี้ว่า ถ้าหากมีก็จะเป็นมะเร็งชนิดอดีโน/Adenocarcinoma (ลักษณะเซลล์คล้ายต่อมที่สร้างมูกในรูปากมดลูก) เกือบทั้งหมด มะเร็งดังกล่าวเคยมีรายงานในเด็กหญิงอายุ 1.5 ขวบด้วย มะเร็งชนิดอื่นๆเกิดขึ้นได้น้อยมากครับ เช่น มะเร็งปากมดลูกชนิดสแควมัส/Squamous cell carcinoma (เหมือนชนิดที่พบมากในผู้ใหญ่) ก็เคยมีรายงานในเด็กหญิงอายุ 15 ปี เนื้องอกของปากมดลูกที่พบได้ยากทั้งชนิดไม่ร้ายแรงและมะเร็งสามารถโผล่ยื่นออกมาทางปากช่องคลอด หรือเห็นเป็นติ่งเนื้อขนาดยักษ์อยู่ภายในช่องคลอดก็ได้ครับ มะเร็งชนิดซาร์โคมาโบทรีออยดีส์ (Botryoides sarcoma) ซึ่งเป็นรอยโรคที่พบในเด็กเล็ก มีแนวโน้มที่จะพบเป็นรอยโรคที่ปากมดลูกมากกว่า หากพบในเด็กสาวครับ

สรุป

เด็กหญิงและเด็กสาว อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการต่างๆมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่างซึ่งมีความจำเพาะกับกลุ่มอายุ แพทย์ที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ควรมีความคุ้นเคยกับขอบข่ายของภาวะต่างๆที่กล่าวมาเป็นอย่างดี และผ่านการฝึกฝนเทคนิควิธีการตรวจที่มีความเหมาะสมต่อเกณฑ์อายุของเด็กหญิงแต่ละรายมาเป็นอย่างดีด้วย หากเป็นไปได้ ท่านผู้ปกครองจึงควรพาเด็กหญิงที่มีปัญหาความเจ็บป่วยดังกล่าวมาแล้วนี้ ไปพบกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น นรีแพทย์/สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ กุมารศัลยแพทย์ หรือศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ตั้งแต่แรกจะเหมาะสมกว่า เพื่อให้เด็กได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจน้อยที่สุดครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.