เมื่อ “ตึกเป็นพิษ” (ตอนที่ 2)

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำท่าบริหารยืดเหยียดลดความปวดเมื่อย สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงได้ทุกวันสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศให้นำไปปฏิบัติก่อนพักเที่ยงหรือเลิกงานก็ได้ อย่างท่าบริหารเพื่อเหยียดกล้ามเนื้อส่วนกลางและส่วนล่าง ให้นั่งตัวตรงบนเก้าอี้แยกขาเล็กน้อย นำหมอนมารองที่หน้าท้อง ค่อยๆ ยกแขนทั้งสองข้างและก้มตัวให้มือแตะพื้น ท่านี้นอกจากจะยืดหลังให้สบายแล้วยังช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีรู้สึกสดชื่นขึ้น

หรือถ้ารู้สึกมึนๆ ขณะทำงาน ให้ประสานมือเข้าด้วยกันและหงายฝ่ามือยืดตรงไปด้านหน้า ยกมือข้ามศีรษะนำนิ้วโป้งทั้งสองรูดไปตามกล้ามเนื้อคอ พร้อมก้มหัวให้สุดและเงยหน้าให้ตั้งตรง โดยมีฝ่ามือต้านไว้ด้านหลัง ท่านี้จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอบ่าที่เกร็งมาทั้งวันได้ดี

นอกจากโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) แล้วยังมีโรคของคนที่ใช้ชีวิตในตึกที่ทำงานหรือตึกที่พักเป็นเวลานานโดยออกมาสัมผัสกับอากาศภายนอกน้อยที่เรียกว่า โรคตึกเป็นพิษ (Sick building syndrome = SBS)

ในปี พ.ศ.2527 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization = WHO) ได้ระบุว่า มีตึกสร้างใหม่หรือตึกปรับปรุงใหม่ร้อยละ 30 ที่อาจทำให้เกิดโรคตึกเป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับระบบอากาศในตึกที่แย่

บ่อยครั้งที่โรคตึกเป็นพิษเกิดจากความบกพร่องของระบบทำความร้อน การระบายลม และระบบปรับอากาศ (Heating, ventilation, and air conditioning = HVAC) สาเหตุอื่นก็อาจจะมาจากสิ่งปนเปื้อนที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซหรือไอ (Outgassing) จากวัสดุบางชนิดที่ใช้กับตึก สารอินทรีย์ไอระเหย (Volatile Organic Chemicals = VOC) การเป็นรา (Mold) การระบายอากาศที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการขาดอากาศที่สดชื่นหรือขาดการกรองอากาศ

[สารอินทรีย์ไอระเหย คือ กลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอกระจายตัวไปในอากาศได้ในที่อุณหภูมิและความดันปกติ โมเลกุลส่วนใหญ่ประกอบด้วยอะตอมคาร์บอนและไฮโดรเจน อาจมีออกซิเจนหรือคลอรีนร่วมด้วย สามารถระเหยเป็นไอได้ที่อุณหภูมิห้อง

ในชีวิตประจำวันเราได้รับสารอินทรีย์ไอระเหยจากผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น สีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี สารตัวทำละลายในพิมพ์ จากอู่พ่นสีรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม น้ำยาซักแห้ง น้ำยาสำหรับย้อมผมและน้ำยาดัดผม สารฆ่าแมลง สารที่เกิดจากเผาไหม้และปะปนในอากาศ น้ำดื่ม เครื่องดื่ม อาหาร สารอินทรีย์ไอระเหยที่สะสมไว้มากนานๆ จะมีผลกระทบทางชีวภาพและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ]

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่แย่มากขึ้นโดยเฉพาะกับคนทำงานที่ออฟฟิศ เพราะไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้เหมือนตอนอยู่บ้าน แท้ที่จริงในที่ทำงานเราจะหายใจเอาอากาศเก่าและทำงานในที่ซ้ำซาก ภายใต้หลอดไฟฟลูออเรสเซนท์ (Fluorescents) ซึ่งอาจทำให้เกิดความเบื่อ ตาล้าตาเพลีย (Eyestrain) และเซื่องซึม (Lethargy)

สำหรับคนที่ภูมิต้านทานแข็งแรงอาจไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ดีร้อยละ 20 - 30 ของคนทำงาน ปัญหาอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับอ่อน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ (Nausea) เวียนศีรษะ (Dizziness) สูญเสียความจำชั่วคราว หงุดหงิดฉุนเฉียว (Irritability) เคืองตา และคันคอ จนถึงระดับที่ทำลายระบบประสาทและทางเดินหายใจได้

แหล่งข้อมูล:

  1. บรรเทาปวดให้ถูกหลัก - http://www.komchadluek.net/detail/20130520/158857/บรรเทาปวดให้ถูกหลัก.html#.UZpSjL7-KrA [2013, June 7].
  2. Sick building syndrome. - http://en.wikipedia.org/wiki/Sick_building_syndrome [2013, June 7].
  3. Is Your Office Killing You? - http://www.businessweek.com/2000/00_23/b3684001.htm [2013, June 7].